ลูกจ้างสาว ถูกรถโฟล์คลิฟท์ชนบาดเจ็บ แต่ถูกไล่ออก เหตุโพสต์คลิปอุบัติเหตุลงโซเชียล แต่พอเป็นข่าวก็ให้กลับไปทำงานเหมือนเดิม ส่วนเรื่องการเยียวยา ทางโรงงานไม่เคยพูดถึง แต่ให้ไปฟ้องร้องเอากับคนขับรถโฟล์คลิฟท์
วันที่ 24 มี.ค. 66 คุณโสพี เเสงทอง (โส) พนักงานที่ได้รับบาดเจ็บ เล่าว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ตนกำลังเดินเข้าไปรอทำงาน ขณะที่กำลังเบี่ยงทาง ไม่รู้ว่ามีรถโฟล์คลิฟท์มาจากด้านหลัง เพราะเสียงรถเงียบมาก จึงถูกชนแล้วลากตัวไปกับถนน ผลตรวจพบว่ากระดูกเชิงกรานร้าว มีแผลถลอก ฟกช้ำตามตัว ทางโรงงานได้ทราบเรื่องจึงเข้ามาเยี่ยมในวันที่ 20 มีนาคม สอบถามอาการเบื้องต้น แต่ไม่พูดถึงเรื่องการเยียวยา หลังจากนั้นตนได้โพสต์คลิปอุบัติเหตุลง TikTok เพื่อเตือนภัยแก่สังคม
คุณเกียรติกุล ปานทอง (ต๊ะ) แฟนของผู้บาดเจ็บ เล่าต่อว่า วันที่ 21 มีนาคม หัวหน้าของตนได้ติดต่อมาว่า ให้ตนเข้าไปคุยกับ HR โดยบอกว่าทางโรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โรงงานไม่มีส่วนผิด คนที่ผิดคือคนขับรถโฟล์คลิฟท์ ให้ตนไปฟ้องได้เลย และได้บอกอีกว่าแฟนของตนมีความผิด เพราะนำคลิปอุบัติเหตุไปเผยแพร่ทำให้เสื่อมเสีย คุณโสพี เล่าต่อว่า หลังจากเป็นข่าวดัง ทางผู้จัดการและ HR ได้มาหาที่บ้าน ยืนยันว่าไม่ได้ให้พ้นสภาพพนักงาน อาจจะมีการเข้าใจผิดกัน ส่วนเรื่องการเยียวยาก็ไม่มีการพูดถึง
คุณโด้ พนักงานที่ขับรถโฟล์คลิฟท์ ยืนยันว่าตนมองไม่เห็นคุณโสพี ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากมีของบังทัศนวิสัยหน้ารถ ตนรู้ตัวอีกทีเพราะได้ยินเสียงร้อง หลังจากเกิดอุบัติเหตุตนถูกบริษัทเรียกไปคุย บอกว่าตนต้องไปจัดการคดีอาญากับผู้เสียหายเอง ทางโรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และตนถูกไล่ออก เหตุผลเนื่องจากไม่ผ่านการทดลองงาน
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความรู้มุมกฎหมายว่า อุบัติเหตุนี้คือความประมาทในโรงงาน จะแบ่งเป็นคดีระหว่างผู้เสียหายกับคนขับรถ และผู้เสียหายกับโรงงาน (จป.) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นายจ้างจะต้องมารับผิดชอบเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้
คุณพงศ์เทพ เพชรโสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การขับรถโฟล์คลิฟท์จะต้องมีใบอนุญาต เรื่องการไม่ผ่านการทดลองงาน จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือต้องจ่ายค่าจ้าง 1 งวดให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้บาดเจ็บจากเกิดอุบัติเหตุ นายจ้างจะต้องเข้ามาดูแลตามหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ส่วนเรื่องการนำคลิปอุบัติเหตุไปเผยแพร่ ทนายรณณรงค์และคุณพงศ์เทพ ให้ความรู้ด้านกฎหมายว่า ถ้าหากเป็นการทำให้นายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรง ก็อาจจะโดนไล่ออกได้ เช่น โพสต์ด่านายจ้าง แต่ในกรณีนี้ไม่เข้าข่าย เป็นเพียงภาพอุบัติเหตุ ไม่มีการกล่าวถึงชื่อบริษัท ถ้าหากเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผล อาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยในกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องกลับได้
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35