เช้านี้ที่หมอชิต - ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สั่งเก็บถุงบิกแบ็กที่มีการปนเปื้อน ซีเซียม-137 พร้อมเร่งทำความเข้าใจชาวบ้านในพื้นที่
ผู้ว่าฯ ลงตรวจโรงงานปนเปื้อน ซีเซียม-137 จ.ปราจีนบุรี
ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ สำหรับกรณีวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในไซโล หายไปจากโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ภายในนิคมอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวยืนยันว่า พบสารปนเปื้อน ซีเซียม-137 ในโรงหลอมเหล็ก โดยอยู่ในกระบวนการหลอมโลหะ ส่งผลให้ ซีเซียม-137 ปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นแดง (ฝุ่นโลหะ) ที่มีระบบกรอง ป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอกนั้น
เมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) นายณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ลงพื้นที่โรงงาน พร้อมสั่งเก็บถุงบิกแบ็กที่ตรวจพบสาร ซีเซียม-137 ที่มีมากกว่า 26 ตัน และใช้รถตรวจวัดรังสีขับไปตามพื้นที่ชุมชน โดยสั่งการให้หัวหน้าชุมชนพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่หากไม่สบายใจจะส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ ตรวจหาสารกัมมันตรังสีตามชุมชนอย่างละเอียด
เฝ้าระวังแรงงาน ตรวจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
ขณะที่ นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี บอกว่า แรงงานของโรงหลอมมีอยู่ประมาณ 70 คน ซึ่งผลตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น, ระยะกลาง 3-6 เดือน และ ระยะไกล 1 ปี รวมถึงต้องหารือผู้เชี่ยวชาญว่า แนวทางการติดตามสุขภาพแรงงานและประชาชนในละแวกต้องดำเนินการอย่างไร โดยจะมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย
จี้ดูแลชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงรับสารปนเปื้อน รัศมี 5 กิโลฯ
ความเห็นของ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์บางช่วงว่า กระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอม จะนำเศษเหล็กที่มี ซีเซียม-137 รวมมาด้วย อัดกันเป็นก้อน แล้วเทเข้าสู่เตาหลอม แต่ขณะที่เพิ่มความร้อนจะมีฝุ่นเหล็กละเอียดลอยขึ้นไปสู่ถุงกรองฝุ่น ที่จะกรองฝุ่นละเอียดไว้ได้ถึง 90 ส่วนอีก 10 จะลอยออกไปที่ปลายปล่อง
ดังนั้นที่ปลายปล่องจะมีฝุ่นละเอียด กับ ซีเซียม-137 ระบายออกไปสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงานหลอมเหล็ก และอาจไปไกลมากกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนฝุ่นแดงกับ ซีเซียม-137 ในถุงกรอง ถูกนำไปรีไซเคิลที่โรงงานจังหวัดระยอง ที่อาจมีการปนเปื้อนจากปลายปล่องสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงาน พร้อมนำตะกรันเหล็กไปฝังกลบ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนในดิน ผิวดิน และน้ำใต้ดิน
ฉะนั้นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือ สารปนเปื้อนจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ทั้งการหายใจ และทางอาหาร แม้ปัจจุบันยังไม่เห็นว่ากระทบต่อสุขภาพ แต่ระยะยาวจะมีผลกระทบ ฉะนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกความจริง และเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี
ผบ.ตร.สั่งสอบปม ซีเซียม-137 สูญหาย
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสั่งปิดโรงงานดังกล่าว และปิดเป็นพื้นที่ควบคุม เบื้องต้น มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ ไปตรวจสอบ แต่ไม่พบการฟุ้งกระจาย หรือปนเปื้อนของสาร ซีเซียม-137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม หลังจากนี้จะตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเฉพาะประเด็นการสูญหายว่า ผู้ใดลักลอบเอาออกไป เพื่อดำเนินคดีเอาผิดให้ครบทุกมิติ
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35