ตำรวจออกมาแฉกลลวง มิจฉาชีพ ใช้โปรแกรมรีโมทคุมโทรศัพท์ หลอกตุ๋นเงินแม่ค้า ให้เอาหน้าจ่อ ก่อนเงิน 1.7 แสน จะหายวั๊บในพริบตา !
วันที่ 8 ก.พ. 66 สมปอง ม่วงจาบ (ปอง) ผู้เสียหาย เล่าว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 66 มีโทรศัพท์โทรเข้ามาหาตน อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ถามตนว่า ใช่ร้านข้าวแกงแม่ปองใช่ไหม ซึ่งก็คือร้านข้าวแกงของตนเอง พร้อมถามอีกว่าตนได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งไหม เปิดเมื่อวันที่เท่าไหร่ ด้วยความที่ตนจำไม่ได้ เลยส่งโทรศัพท์ให้ลูกสาวคุยต่อ
ด้าน แนน ลูกสาวของผู้เสียหาย เล่าต่อว่า มิจฉาชีพได้บอกข้อมูล ชื่อนามสกุล และเลขที่บัตรประชาชนของแม่มาถูกต้อง และบอกข้อมูลของการจดทะเบียนเข้าโครงการคนละครึ่งถูกอีกด้วย ทำให้ตอนนั้นตนเชื่อว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจริง ๆ จากนั้นเขาก็ให้ตนยืนยันแบบฟอร์มว่าตนรับรู้เรื่องการเสียภาษีแล้ว โดยส่งลิงก์ให้ตน เข้าไปโหลดแอปฯ ของกรมสรรพากรมา ซึ่งเมื่อเข้าไปในแอปฯ หน้าตาจะเหมือนเป็นของกรมสรรพากรจริง ๆ
จากนั้นในแอปฯ จะให้ตนยืนยันตัวตน ซึ่งตนก็ยืนยันทั้งหมด ยอมรับว่าตอนนั้นตนไม่ได้ดูให้ละเอียดดีพอ เสร็จแล้วก็จะขึ้นหน้าจอเป็นตัวเลข 6 ตัว รออยู่พักหนึ่งเขาก็บอกว่าให้เอาโทรศัพท์ไปให้แม่แสกนหน้า ซึ่งตนก็เอะใจตอนที่เอาโทรศัพท์ไปให้แม่แสกนหน้า แต่ตอนนั้นตนไม่ได้บอกมิจฉาชีพว่าอยู่กับแม่แล้ว ตนได้เอาโทรศัพท์ไปจ่อหน้าแม่ แต่แค่ห่าง ๆ ซึ่งมิจฉาชีพกลับตอบกลับมาว่า ให้แม่เอาหน้าเข้าไปใกล้ ๆ ทำให้ตนพยายามปิดเครื่อง แต่ก็ไม่ทัน เงินถูกโอนออกไปแล้ว 179,700 บาท
นาง สมปอง ม่วงจาบ กล่าวต่อว่า เมื่อตนรู้ว่าเงินถูกโอนออกไป ตนสติแตกมาก และเครียดมากถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะเป็นเงินเก็บทั้งชีวิตของตน ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมมิจฉาชีพถึงเอาเงินไปได้ ทั้งที่รหัสต่าง ๆ เขาก็ไม่รู้ และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของตน ทางมิจฉาชีพถึงรู้หมด ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง ๆ
ฟาก พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. เผยว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะใช้มุกอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และจะหลอกเหยื่อให้โหลดแอปฯ ซึ่งเป็นโปรแกรมตระกูล Remote Desktop เอาไว้ควบคุมอุปกรณ์โทรศัพท์ของอีกฝ่าย โดยมันจะสามารถเห็นหน้าจอโทรศัพท์ และควบคุมโทรศัพท์ของอีกฝ่ายได้หมด ทำให้มิจฉาชีพรู้รหัสธนาคารของผู้เสียหาย
ทั้งนี้มิจฉาชีพจะพยายามหลอกล่อให้อีกฝ่ายกดรหัสธนาคารให้ดู หรือหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียม แล้วดูรหัสธนาคารที่เรากด ผ่านแอปฯควบคุม อย่างไรก็ตามที่คุณแนนกดยืนยันตัวตนทั้งหลาย อันนั้นจะทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของเราได้ ซึ่งไม่ควรกด วิธีดูมิจฉาชีพนั้น หากใครโทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วชวนให้โหลดแอปฯต่าง ๆ ให้ตีไว้เป็นมิจฉาชีพได้เลย อีกทั้ง หน้าเว็บของหน่วยงานราชการ ส่วนมาก url จะลงท้ายด้วย .go.th ส่วนของมิจฉาชีพจะเป็น .com ดังนั้นเราไม่ควรโหลดแอปฯ ใด ๆ ตามที่เขาเชิญชวนมา
ขณะเดียวกัน ตอนนี้ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีการป้องกัน โดยแอปฯของธนาคารจะตรวจจับ หากรู้ว่ามีการถูกควบคุมอยู่ จะไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ ส่วนถ้าใครโดนหลอกไปแล้ว สามารถเข้าไปแจ้งความออนไลน์ผ่านทาง
www.thaipoliceonline.com และจะมีการติดต่อไปยังธนาคารเพื่ออายัดเงิน วิธีนี้จะรวดเร็ว เพราะได้รับการให้ความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ร.ต.อ.ธนโชติ นาคะโฆษิตสกุล รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ได้สาธิตวิธีการที่มิจฉาชีพใช้หลอกผู้เสียหาย ตั้งแต่ต้นเรื่องที่เป็นหน้าเว็บปลอม การดาวน์โหลดแอปฯควบคุม กระทั่งวิธีการเข้าควบคุมโทรศัพท์ของผู้เสียหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์ของมิจฉาชีพ จะเห็นหน้าจอของฝั่งผู้เสียหายทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถเข้าไปทำอะไรก็ได้ในโทรศัพท์ของผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ธนโชติ ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ระบบ Android หรือ Ios มีโอกาสโดนทั้งหมด
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35