จากกรณี หนุ่มเทศบาล ถูกโอนเงินออกโดยไม่รู้ตัว และสาวนักธุรกิจ ถูกมิจฉาชีพ หลอกโหลดแอปฯ สุดท้ายเงินหายวับ 1 ล้านบาท !
วันที่ 17 ม.ค. 66 เกียรติกุล ศรีจันทร์ (แซม) เจ้าหน้าที่เทศบาล เล่าว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 เวลา 14.59 น. เงินของตนถูกโอนออกจากบัญชีไป 6,500 บาท โอนออกไปให้ นายอาตาบ่า จะลอ โดยที่ตนไม่ได้จับโทรศัพท์เลย ตนมั่นใจ เนื่องจากตอนนั้นยังเป็นช่วงเวลาทำงานอยู่ จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตนนำหลักฐานตอนที่เงินถูกโอนออก ซึ่งในภาพตนไม่ได้ใช้โทรศัพท์ ตำรวจบอกว่า ตรงนี้มันเป็นปลายเหตุ ให้ตนไปหาต้นเหตุจากธนาคาร ว่าเงินมันถูกโอนออกไปได้อย่างไร ล่าสุดตำรวจเขาก็จะตรวจสอบ แอปพลิเคชันของธนาคารต้นเหตุ
ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าไม่ได้โหลดแอปพลิเคชันแปลกปลอมเข้ามาในโทรศัพท์เลย รวมถึงการกดเข้าไปในลิงก์แปลกปลอมต่าง ๆ ด้วย ตนจะป้องกันตัวเองในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตนเคยเจอแต่พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การที่เงินหายออกไปเองแบบนี้ ไม่เคยเจอ
ด้าน ฉัตรฐิญา ด้วงเจริญ (เฟิร์น) นักธุรกิจ เล่าว่า เคสของตนถูกมิจฉาชีพ โทรเข้ามา อ้างตัวว่าเป็นสรรพากร ซึ่งเขารู้ชื่อของตน รวมถึงชื่อร้านของตนด้วย ตอนนั้นเลยไม่คิดว่าเป็นมิจฉาชีพ ต่อมา เขาล่อลวงให้ตนโหลดแอปฯ เพื่อยกเลิกแอปฯ ถุงเงิน โดยส่งลิงก์ให้ตนทางไลน์ ระหว่างนี้ ก็โทรคุยกับเขาอยู่ตลอด
เมื่อโหลดแอปฯ ที่มิจฉาชีพส่งมาแล้ว กดเข้าไปจะมีให้กรอก ชื่อ นามสกุล และเบอร์โทร ซึ่งก็มีการแจ้งเตือนในโทรศัพท์ ขออนุญาตการเข้าถึงต่าง ๆ เมื่อตนกดอณุญาตไป ก็มีรหัส OTP 6 หลักเด้งขึ้นมา จากนั้นหน้าโทรศัพท์ก็ค้างใช้อะไรไม่ได้เลย ไม่นาน ข้อความเด้งมาว่าเงินของตนถูกโอนออกไป 700,000 บาท และสายก็ตัดออกไปเลย จากนั้นเงินก้อนที่ 2 ถูกดูดออกไปอีก 306,000 บาท พอเกิดเรื่องขึ้น ตนจึงรีบไปติดต่อที่ธนาคาร เล่าเรื่องให้เขาฟัง เจ้าหน้าที่ธนาคารเขาก็ช่วยตนอายัดบัญชีปลายทาง
ฟาก พ.ต.อ.อมรชัย ลีลาขจรจิตร ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี บก.ปอท. ให้ความเห็นว่า ในกรณีของนาย เกียรติกุล ศรีจันทร์ ยังยืนยันไม่ได้ว่ามีการทำอะไรไปบ้าง ซึ่งคนร้ายอาจจะเคยหลอกลวงให้ลงแอปพลิเคชันแปลกปลอมไว้นานแล้ว โดยแอปฯดังกล่าวจะสามารถควบคุมโทรศัพท์จากระยะไกลได้ ต้องนำโทรศัพท์มาตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่ปัญหาจะมาจาก แอปฯ ของธนาคาร เนื่องจาก ระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคารค่อนข้างแน่นหนา และมีมาตรฐาน หากแฮ็กจากธนาคารได้จริง คนร้ายคงไม่มาแฮ็กผ่านโทรศัพท์ของผู้ใช้
ส่วนกรณีของคุณเฟิร์น เราจะเจอกันบ่อย คือการโทรมาสร้างความเชื่อถือ แล้วหลอกให้โหลดแอปฯ หรือการส่งข้อความมา ทั้งเรื่องการถูกรางวัล เงินกู้ หรือแม้กระทั่งกรมสรรพากรเองก็ตาม ซึ่งเมื่อเขาหลอกให้โหลดแอปฯแล้ว เขาก็จะดำเนินการโอนเงินของเราออกไปทันที
ทั้งนี้ การจะได้เงินคืนนั้น มีโอกาสค่อนข้างน้อยมาก เพราะว่าอายัดบัญชีปลายทางไว้ไม่ทัน อีกกรณีถ้าจะได้เงินคืน คือ ต้องจับคนร้ายให้ได้ เราก็จะเอาทรัพย์สินของคนร้ายมาคืน และอีกกรณีคือการที่ธนาคารเห็นความผิดปกติของเส้นทางการเงิน แล้วหยุดเอาไว้ได้ หากธนาคารช่วยกัน โอกาสที่จะได้เงินมาคืนจะมากขึ้น
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35