กรมการขนส่งทางบก ยังไม่ประกาศให้รถแท็กซี่ใน กทม.กว่า 70,000 คันขึ้นค่าโดยสาร ถึงแม้ประกาศกระทรวงคมนาคมให้ขึ้นค่าโดยสารจะมีผลใช้บังคับแล้ว ต้องรอให้รถแท็กซี่นำมาปรับจูนมิเตอร์ และตรวจสอบก่อนวิ่งบริการ
ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และอัตราค่าโดยสารไม่ได้ปรับขึ้นมา 8 ปีแล้ว นั้น
วันที่ 13 ม.ค.2566 เป็นวันแรกที่ประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ของรถแท็กซี่ ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครมีผลใช้บังคับ โดยแบ่งการคิดค่าโดยสารตามลักษณะของรถ ดังนี้
อัตราค่าโดยสารใหม่
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก
- รถเล็ก (เครื่องยนต์ 1,600-1,800 ซีซี) ราคา 35 บาท
- รถใหญ่ (เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี) ราคา 40.00 บาท
ระยะทาง 2-10 กิโลเมตร
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทาง 11-20 กิโลเมตร
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทาง 21-40 กิโลเมตร
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทาง 41-60 กิโลเมตร
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทาง 61-80 กิโลเมตร
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทาง 81 กิโลเมตรขึ้นไป
- รถเล็ก/รถใหญ่ กิโลเมตรละ 10.50 บาท
รถติด รถเคลื่อนที่ช้ากว่า 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- รถเล็ก/รถใหญ่ คิดนาทีละ 3 บาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราค่าโดยสารใหม่จะมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ในส่วนกรมการขนส่งทางบก ยังไม่ได้ประกาศให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ โดยต้องรอให้ รถแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในกรุงเทพฯ ประมาณ 70,000 คัน นำรถเข้ามาปรับจูนมิเตอร์ ตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำรถออกให้บริการประชาชน
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ผู้ขับรถแท็กซี่ต้องนำมิเตอร์ไปปรับจูนมาตรค่าโดยสารที่บริษัทผู้จำหน่ายมิเตอร์ให้ถูกต้องตามประกาศฯ และนำมิเตอร์ที่ปรับจูนแล้วมาที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ส่วนตรวจสภาพรถ งานตรวจสภาพรถรับจ้างและรถอื่น อาคาร 4 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจรับรองความถูกต้องและทำการซีลตะกั่วที่มิเตอร์ก่อนออกให้บริการประชาชน
โดยกรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขับแท็กซี่ในการปรับจูนมิเตอร์ให้ถูกต้อง โดยได้ร่วมมือกับ 4 บริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท เพาเวอร์เมติค จำกัด (ยี่ห้อ Printax, ROYAL), บริษัท ซันไทมิเตอร์ จำกัด (ยี่ห้อมิเตอร์ 3TM), บริษัท จีพีเอสไทยสตาร์ จำกัด (ยี่ห้อ G-TAX) และบริษัท ทีเอชที โปรเกรส จำกัด (ยี่ห้อ PROFITTO) นำเจ้าหน้าที่ของทั้ง 4 บริษัทมาให้บริการปรับจูนมิเตอร์ ณ สถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 – 28 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ มิเตอร์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุด บกพร่อง และหลังการปรับจูนกรมการขนส่งทางบกได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการตรวจสอบรับรองความถูกต้องของมิเตอร์ตามที่กฎหมายกำหนด ณ สถานีกลางบางซื่อ สำหรับมิเตอร์นอกจาก 4 ยี่ห้อดังกล่าว หลังจากนำมิเตอร์ปรับจูนที่บริษัทผู้จำหน่ายมิเตอร์แล้ว สามารถนำมิเตอร์มารับรองความถูกต้อง ณ สถานีกลางบางซื่อ ได้เช่นกัน โดยเปิดให้บริการวันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบกได้เน้นย้ำให้ผู้ขับรถแท็กซี่ต้องพัฒนาคุณภาพในการให้บริการประชาชน ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้ใช้บริการในการเก็บค่าโดยสารเกินจากมิเตอร์ รวมถึงให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้การปรับอัตราค่าโดยสารตามประกาศฯ ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม หลังจากไม่ได้ปรับอัตราค่าโดยสารมาแล้วกว่า 8 ปี โดยกรมการขนส่งทางบกจะนำระบบตัดแต้มรถโดยสารสาธารณะมาใช้ควบคุมและกำกับคุณภาพการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการของรถแท็กซี่และดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุด ซึ่งมีโอกาสถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้ หากประชาชนพบเห็นรถแท็กซี่มีพฤติกรรมปฏิเสธผู้โดยสาร ขับรถประมาท พูดจาไม่สุภาพ หรือเรียกเก็บค่าโดยสารเกินจากมิเตอร์ สามารถแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง