ยายร้องสื่อ หลานถูกตำรวจรวบ ยัดคุก ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากป้ายแดงที่ใส่ เป็นของปลอม ช้ำหนัก ต้องกู้เงินมาประกันตัวหลาน 1 แสน จ่ายดอกร้อยละ 10 เอาออกได้แค่ตัว ส่วนรถยังคงยึดไว้ !
วันที่ 10 ม.ค. 66 เกิดกูล ยิ้มละมัย (แบงค์) เจ้าของรถป้ายแดง ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เล่าว่า ย่าของตนได้ดาวน์รถยนต์กระบะ จ่ายค่าดาวน์ไป 30,237 บาท รับรถมาเมื่อ 29 ต.ค. 64 ซึ่งก็นำมาใช้ปกติ ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร กระทั่ง ช่วงหลังจากออกรถมาเกือบ 1 ปี ตนก็มาถูกจับตำรวจจับครั้งแรก ระหว่างไปติดตั้งแอร์ที่ จ.ชลบุรี โดนเรื่องป้ายทะเบียน ซึ่งตอนนั้นตำรวจเขาอะลุ่มอล่วยให้ ปรับแค่ 1,000 บาท แต่ครั้งนั้นเซลเขารับผิดชอบแทน โดยการโอนเงินค่าปรับมาให้ 1,000 บาท
ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นป้ายแดงปลอมหรือไม่ เนื่องจากเซลก็ไม่ได้แจ้งอะไร ขณะเดียวกันเซลก็เสนอให้ตนไปใส่ป้ายแดงอีกอันหนึ่งแทนก่อน โดยไม่ได้ให้เหตุผลอะไรเช่นกัน แต่ตนขอไม่ใส่ จะรอป้ายขาว เร่งให้เขาดำเนินการให้ เพราะตนต้องใช้รถทำงาน ทางเซลเลยแนะนำให้ตนถอดป้ายทะเบียนวิ่งงานไปก่อน แต่สุดท้ายตนก็ไม่ได้ถอด เนื่องจากตนไม่ค่อยรู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าถ้าเกิดถอดป้ายทะเบียนขับ แล้วจะโดนอะไรไหม อย่างไรก็ตาม ตนได้ทวงถามเซลทางไลน์เกี่ยวกับเรื่องของป้ายขาว ซึ่งทางเซลบอกว่า มันจะช้าหน่อย อ้างว่า มันมีการสลับทะเบียนผิดคันบ้าง มีคิวรถเยอะบ้าง เขาก็อ้างมาตลอด
กระทั่งมาถูกตำรวจจับที่ จ.พระนครศรีอยุทธยา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 65 โดยตอนนั้นถูกตำรวจทางหลวงเรียกขอตรวจสอบรถ หลังจากเขาเช็กรถเสร็จ เขาก็บอกว่าสมุดเล่มจดป้ายแดงก็ไม่มี และยังบอกอีกว่า ป้ายแดงที่ใส่อยู่ เป็นของปลอม ตนเลยถูกจับข้อหา ปลอมแปลงเอกสารราชการ เมื่อทำสำนวนเสร็จ เขาก็เอาตนเข้าห้องขังเลย
ด้าน กาหลง ยิ้มละมัย (นก) ย่าของเจ้าของรถป้ายแดง เผยว่า หลังจากรู้ว่าหลานชายถูกจับ ตนก็รีบไปทันที โดยตอนนั้นไม่คิดว่าเงินประกันจะสูง กลับกลายเป็นว่า ต้องวางเงินประกันถึง 100,000 บาท ตนก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย จึงหากู้เงินนอกระบบมาประกันตัว โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เขา ร้อยละ 10 พอประกันตัวเสร็จ ก็ต้องตกใจอีกครั้ง เพราะประกันได้แต่ตัวหลาน แต่รถไม่สามารถเอาออกมาได้ ถูกอายัดเอาไว้ที่โรงพัก ทำให้หลานต้องไปเช่ารถวันละ 400 บาท เพื่อมาวิ่งงาน เนื่องจากบริษัทที่หลานทำงานอยู่จะปรับวันละ 2,000 บาท หากไม่ได้ขับรถวิ่งงาน ตนเสียใจมากที่หลานถูกจับ และยังไม่เข้าใจด้วยว่าหลานตนทำอะไรผิด
วันถัดมาหลังจากหลานถูกจับ ตนก็เดินทางไปศูนย์รถ เพื่อไปขอพบเซลที่ขายรถให้ พนักงานที่นั่น เขาบอกว่าเซลคนดังกล่าวไม่อยู่ เมื่อถามถึงผู้จัดการ พนักงานก็ตอบว่าออกไปทานข้าว ตนจึงนั่งรอ ซึ่งในระหว่างที่นั่งรอนั้น ลูกสาว(อ้อม) ที่ไปด้วยกัน ก็เห็นว่าเซลแอบอยู่ภายในออฟฟิศ จึงให้พนักงานไปตาม เพื่อขอให้เซลช่วยให้พาไปเอารถออก แต่ทางเซลกลับบอกว่า "ช่วยไม่ได้ ขายแล้วขายขาดเลย" ตนเลยบอกว่าจะนำเรื่องราวนี้ไปเล่าให้สื่อฟัง ทางเซลก็ท้าบอกว่า "อยากจะบอกสื่อหรือฟ้องก็ทำเลย บริษัทเขาก็มีทนาย" ได้ยินแบบนี้ ตนเสียใจมาก ทีตอนที่เอาเงินไปออกรถ เขาพูดกลับตนดีมาก แต่ตอนนี้มาปัดความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ วันที่ออกรถเราดีใจกันมาก เพราะตนออกรถให้หลานชายเราเพื่อไว้ทำงาน อีกทั้งยังเป็นรถคันแรกของครอบครัว ซึ่งเราก็ไม่รู้เลยว่า ป้ายแดงมันเป็นป้ายปลอม หรืออย่างไร ยืนยันว่า ไม่รู้มาก่อนว่าป้ายทะเบียนแดงที่ใส่เป็นของปลอม ทางเซลก็ไม่เคยบอกว่าเป็นของปลอม หากเรารู้ว่าเป็นของปลอมเราคงไม่เอา
ขณะที่ เกษร รื่นประดู่ (อ้อม) อาของเจ้าของรถป้ายแดง เผยว่า ตอนนี้หลานชายลำบากมาก เนื่องจากนโยบายของบริษัทไม่ได้ให้พนักงานหยุดงาน เนื่องจากตนเป็นผู้รับเหมา หากเขามีงานให้วิ่ง ก็ต้องไป ต้องออกไปติดตั้งแอร์ให้เขา หรือไม่ไปส่งของ หากขาดงานไปต้องบอกเหตุผลเขาว่าขาดงานเพราะอะไร ซึ่งถ้ามันนานเข้า เขาจะมองว่า แอบไปรับงานที่อื่น ทำให้ตนช่วยไปคุยกับบริษัทให้หลาน ทางบริษัทเขาก็เข้าใจดี เลยให้ยืมรถมาใช้งาน แต่ขอเก็บค่าเช่ารถวันละ 400
ฟาก คณาธิป แก้วสระแสน ทีมสายไหมต้องรอด กล่าวว่า ตนคิดว่าการดำเนินการจดทะเบียนให้กับลูกค้า เซลไม่น่าดำเนินการนานเกินกว่า 3 เดือน แต่เคสนี้ ออกรถตั้งแต่ 29 ต.ค. 64 จนมาถูกจับ 10 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อเขาก็ไม่รู้หรอกว่าป้ายทะเบียนแดง ที่เซลใส่มาให้ มันเป็นของจริงหรือของปลอม แค่ได้รถเขาก็ดีใจแล้ว กลับต้องมาถูกจับ และยึดรถ ที่สำคัญคือตอนนี้รถไม่สามารถเอาออกมาได้ หากจะเอารถออกต้องหาคนมีตำแหน่งมาค้ำประกัน
ทั้งนี้ ทีมสายไหมต้องรอด จะหาทางช่วย ให้ผู้เสียหายเอารถ ออกมาให้ได้ เพราะรถถูกยึด 1 เดือน มีแต่ผลเสีย งานก็ไม่ได้ทำ ค่ารถก็ต้องผ่อน แถมยังขาดรายได้อีกด้วยเดี๋ยวตนจะพาไป ทำเรื่องคำร้องที่โรงพัก
ด้าน พัสกร ทัพมงคล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. เผยว่า เคสนี้ ตนมองว่า ผู้เสียหายถูกละเมิดสิทธิ เขาไม่ได้มีเจตนาในการทำผิดเลย เนื่องจากผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า วันที่ไปรับรถ ป้ายแดงมันถูกติดไว้ที่รถแล้ว ไม่ได้คุยกับเซลเรื่องป้ายเลย คุยกันเรื่องอื่น แนะนำให้มาร้องเรียนกับทาง สคบ. โดยทางเราจะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ก่อน ถ้าไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ทาง สคบ. ก็จะฟ้องคดีแทนให้ เคยมีกรณีแบบนี้มาร้องเรียนกับทางเราแล้ว
ด้าน ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความฯ เล่าว่า ความเห็นส่วนตัวของตน มองว่า พนักงานสอบสวนน่าจะไม่มีอำนาจในการยึดรถคันดังกล่าวไว้ เนื่องจาก สิ่งที่ผิดคือป้ายทะเบียนปลอม แต่รถไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิด เบื้องต้น แนะนำให้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังผู้กำกับก่อน เพื่อให้เขาคืนรถมาให้ ส่วนกรณี ความเสียหายต่าง ๆ ของรถ หรือค่าขาดประโยชน์ เราสามารถเรียกร้องจากศูนย์ที่เขาขายรถมาให้ได้ เนื่องจาก เขาทำให้เกิดเหตุละเมิดจากเรา เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับป้ายทะเบียนแดงปลอมอันนี้ ดังนั้นพนักงาน และศูนย์รถ ต้องร่วมกันรับผิด โดยเราต้องฟ้องร้องดำเนินคดี
ขณะเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรม ทีมงานรายการถกไม่เถียง จึงได้ติดต่อไปทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์รถดังกล่าว โดยทางผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ได้ให้ข้อมูลกับทีมงาน ว่า บริษัทเพิ่งได้ทราบข่าวเมื่อเช้านี้ ตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ในช่วงรวบรวมเอกสารเหตุการณ์ โดยเหตุผลที่จดทะเบียนไม่ได้ และยังไม่ได้ป้ายขาวนั้น มาจากตอนลูกค้าออกรถ ลูกค้าได้มีการแจ้งขอต่อเติมตู้ทึบ แต่ว่ายังไม่ได้จ่ายเงินค่าต่อเติม ซึ่งลูกค้าเพิ่งจะมาชำระเงินเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 65 จึงยังไม่สามารถจดทะเบียนกับขนส่งได้
ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ดำเนินการจัดทำป้ายขาวให้ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว และลูกค้ารับไปเมื่อ ต้นเดือน ม.ค. 66 ที่ผ่านมาส่วนเรื่องของป้ายแดงปลอมนั้น ทางบริษัทไม่มั่นใจว่าเป็นของใคร บริษัทไม่มีนโยบายให้ป้ายแดงปลอม แต่จากการที่มีการหารือกับกับเซลแล้วนั้น เซลแจ้งว่า เซลได้เสนอป้ายแดงของจริงจากทางบริษัทให้แก่ลูกค้า โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องเสียค่ามัดจำ แต่ทางลูกค้าไม่รับ เซลล์จึงเสนอป้ายแดงของจริงของเซลให้ลูกค้าไปใช้ก่อน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งลูกค้าก็ไม่รับเช่นกัน ตอนนี้ทางบริษัทจึงกำลังทำการสืบสวนอยู่ว่า สรุปแล้วป้ายแดงปลอมที่ลูกค้าอ้างถึงนั้น เป็นของใคร
สำหรับประเด็นที่เซลท้าทายให้ผู้เสียหายฟ้องนั้น ยืนยันว่าไม่มี เพราะก่อนหน้านี้ ลูกค้าเคยถูกจับ 1 ครั้ง ต้องเสียค่าปรับ 2,000 บาท ทางเซลก็ยังช่วยออกเงินให้ 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากทางบริษัทรวบรวมข้อมูลเอกสารทั้งหมดแล้ว จะขอนัดวันชี้แจงให้ลูกค้ารับทราบอีกครั้ง
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35