ผบ.ตร.ประชุมร่วมอธิบดีอัยการ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้อกล่าวหาสำนวนคดีตู้ห่าวอ่อน ย้ำโครงการการทำงานโปร่งใส ดำเนินคดีตำรวจช่วยเหลือผู้ต้องหาหลบหนีไปแล้ว 3 นาย แจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 นาย
ความคืบหน้าคดี ตู้ห่าว วานนี้มีการประชุมร่วมกันที่สำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่าง พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด หลังประชุมเสร็จจึงมีการแถลงข่าว
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องที่นายชูวิทย์ ปล่อยคลิปต่างๆ และออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจเป็นระยะ ชี้นำให้ตำรวจทำสำนวนการสอบสวนอ่อนนั้น เรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความชัดเจนกับประชาชน เมื่อวานนี้ตนจึงได้ออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งมี พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน และทีมงานจเรระดับผู้บัญชาการ 2 ท่าน และมีผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บังคับการกองปราบปราม ได้เลื่อนไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็นเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสังคมภายใน 15 วัน ต้องมารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ตนประสงค์ขอเชิญผู้แทนอัยการประมาณ 2-3 ท่านเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาในคณะนี้ด้วย
ซึ่งในคดีนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้ำว่า ในข้อเท็จจริง ผบช.น.เป็นผู้ที่ทำหนังสือเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่า การกระทำความผิดของเครือข่ายนี้เข้าข่ายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ก่อนที่อัยการสูงสุดพิจารณามอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะเพื่อมากำกับการทำงาน
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้ต้องหาหลบหนี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า ณ ตอนนี้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา 2 ราย พนักงานกำกับจราจร สน.ลาดพร้าว 1 ราย และล่าสุดแจ้งข้อหา รองผู้บังคับการนครบาล 6 อีก 1 ราย ซึ่งดำเนินคดีอาญาไปหมดแล้ว และได้ส่งสำนวนไปที่ ป.ป.ช. แล้ว 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ
ส่วนนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ให้ความเห็นว่า คดีนี้ได้มีการรวมสำนวนเป็นสำนวนเดียวจาก 5 สำนวน เพราะว่าเป็นพฤติการณ์ในการร่วมกันกระทำความผิด ส่วนการสอบสวนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาการฝากขังผู้ต้องหา ซึ่งจะมีการครบกำหนดฝากขังคนแรกเร็วที่สุด คือ ครบฝากขังครั้งที่ 6 ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ และในการฝากขังครั้งที่ 7 คือภายในวันที่ 20 ม.ค. ส่วนสำนวนการสอบสวนจะนำเสนอให้กับอัยการสูงสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาฝากขัง เพื่อให้มีเวลาที่อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวน
สำหรับขั้นตอนของพนักงานอัยการที่ไปร่วมสอบสวนคดีตู้ห่าวนั้น ขั้นตอนแรกคือ นำสำนวนของพนักงานสอบสวนมาตรวจสอบโดยละเอียด รวมถึงพยานหลักฐานในแนวทางที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ดีทุกอย่าง ซึ่งยืนยันว่าการสอบสวนของตำรวจที่ผ่านมามุ่งเน้นสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหา ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง พร้อมกับสืบสวนหาว่ามีกลุ่มขบวนการใดบ้างร่วมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นการทำสำนวนอย่างถูกต้อง เมื่อพนักงานอัยการได้เข้าไปดูก็ได้มีการเพิ่มเติมบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนจนสามารถออกหมายจับเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาได้
อธิบดีกรมอัยการยืนยันว่า สำนวนหลักจากทางพนักงานสอบสวนที่ได้รวบรวมมา ถือว่ามีความ ครบถ้วนสมบูรณ์ พนักงานอัยการไม่ต้องทำอะไรมากมายเพียงหาจุดเชื่อมโยงในพยานหลักฐานเท่านั้นและพิจารณาออกหมายจับตามที่เป็นข่าว
ซึ่งภายหลังจากแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ผบ.ตร. ถึงความพอใจในการทำงานของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. หลังถูก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กดดันให้มีการปลดจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง ผบ.ตร.ตอบว่า ต้องดูข้อเท็จจริง แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ผบช.น. ด้วย ยืนยันว่า ทั้งตนเองและ ผบช.น. ก็ยังทำงานกันยังไม่ได้หยุดเลยตั้งแต่ที่รับตำแหน่งมา
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35