ช่วงนี้อากาศค่อนข้างเย็น หลายคนอาจจะหาวิธีมาทำให้ร่างกายอบอุ่น อย่างเช่น การดูข่าวนี้ เป็นดรามาที่ร้อนฉ่าไปทั้งกระทรวงคมนาคม กรณีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณ เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ด้วยงบประมาณสูงถึง 33 ล้านบาท ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียด และยืนยันว่า เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนทุกอย่าง
หลังจากที่ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ได้ทำหนังสือแจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 33 ล้านบาท ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เป็นใครและมีที่มาที่ไปอย่างไร โดยบริษัทแห่งนี้ เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่รับเหมาของประเทศไทย มีสินทรัพย์กว่า 45,441 ล้านบาท หนี้สินรวม 37,351 ล้านบาท
และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2565 บริษัทแห่งนี้ คว้างานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ทั้งสิ้น 18 โครงการมูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย 8 โครงการ มูลค่างานรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
ส่วนการกำหนดราคากลางนั้น การรถไฟฯ ได้ดำเนินการผ่านการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ลงวันที่ 6 ธ.ค. 65 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่าง ๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท
โดยยอดเงินเผื่อจ่าย จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการ และผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ การรถไฟฯ ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้กำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง
ส่วนการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ
ขณะที่ รายละเอียดของอักษรนั้น ตัวอักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่ รวม 60 เมตร ส่วนอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร
โดยจะผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะครีลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย และเพิ่มตราสัญลักษณ์ที่มีความสูง 7 เมตร
นอกจากนี้ ป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว และจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า
และดรามาที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในเรื่องที่เกิดขึ้น อย่าง นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาท เนื่องจากเกรงว่า การรถไฟฯจะเสียประโยชน์ เพราะมองว่า เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง และขอให้ผู้บริหารชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ ทั้งราคาวัสดุ ราคาโครงสร้างต่าง ๆ
ขณะที่ เฟซบุ๊ก “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ได้เปิดเอกสารการรถไฟฯ 2 ฉบับ ระบุว่า จริง ๆ แล้วมีการตั้งงบประมาณไว้ 34 ล้านบาทถ้วน เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีเฉพาะเจาะจง” ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเมื่อ 28 ธ.ค. 65 วงเงินสัญญากว่า 33 ล้านบาท และตัวอักษรที่จะเปลี่ยนเป็นภาษาไทย สูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร จำนวน 24 ตัว และชื่อภาษาอังกฤษ ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 50 เซนติเมตร จำนวน 31 ตัว และโลโก้อีก 1 ตัว ไม่มีใบปริมาณงาน (ปร.4) ไม่มีแบบ ไม่มีอะไรเลย จึงไม่ทราบรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ แต่ถ้าเอาจำนวนตัวอักษรที่เปลี่ยนมาคิดค่าเฉลี่ยคร่าว ๆ ก็ตกตัวละ 589,286 บาท
เรื่องนี้ร้อนไปถึงเจ้ากระทรวงอย่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งสั่งการให้ปลัดกระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบรายละเอียดการใช้งบประมาณในเรื่องนี้ และให้รายงานผลข้อเท็จจริงกลับมาภายใน 7 วัน ซึ่งป้ายดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก เป็นป้ายแบบพิเศษ ตัวหนังสือขนาดใหญ่ จึงต้องดูว่างบประมาณกับปริมาณงานมีรายละเอียดอย่างไร ขอสังคมไม่ต้องกังวล จะมีการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ถ้าพบว่าส่อไปทางทุจริตก็ยกเลิกสัญญาการก่อสร้างปรับปรุงป้ายได้
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ถ้าผลสอบออกมาว่ามีการกระทำผิดจริง ไม่ใช่แค่ยกเลิกสัญญาเท่านั้น แต่จะมีการลงโทษด้วย
และจากการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการกว่า 33 ล้านบาท จนนำมาสู่การชี้แจงข้อมูลอย่างรอบด้านของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ยังคงไม่สามารถจะสรุปได้ว่า งบประมาณจำนวนกว่า 33 ล้านบาทที่มีการตั้งเอาไว้นั้น จะคุ้มค่าสมราคาหรือไม่ เราต้องมาไขข้อสงสัยกับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญกัน
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35