อุกอาจ ! ชายปริศนาบุกทุบรถ เจ้าของรถรับผิด ปมจอดตรงที่กลับรถ แต่ข้องใจ ต้องถึงขั้นทุบรถเลยเหรอ ? ด้านทนาย ชี้ ที่กลับรถ จอดรถไม่ได้ ส่วนมือทุบ มีโทษจำคุก 3 ปี
จิรวัฒน์ นงค์นวล (หนุ่ม) ผู้เสียหาย เล่าว่า ตนถูกทุบรถ ทั้งที่จอดอยู่ภายในหมู่บ้าน โดยชายปริศนา 2 ราย ขับมอเตอร์ไซค์เข้ามา และออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รถเสียหายทั้งคัน ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดจากปัญหาอะไร แต่คาดว่า อาจจะเป็นเพราะตนไปจอดรถในจุดกลับรถของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ห้ามจอด โดยถ้าเป็นเหตุผลนี้ ตนก็ยอมรับว่าเป็นคนผิด แต่จริง ๆ แล้วตนไม่ได้จอดตรงนี้เป็นประจำ แต่บางทีจอดแล้วทำอย่างอื่นเลยลืมไป ทั้งนี้ ปกติถ้าจอดรถในที่ห้ามจอด จะมีการแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์ ให้ขยับรถ แล้ว รปภ. ของหมู่บ้านจะเข้ามาแจ้งว่าให้ขยับรถ เพราะทางหมู่บ้านจะมีถนนเส้นหลักให้จอดได้ แต่ตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มไลน์ อีกทั้งตนยังเห็นคนในหมู่บ้านก็จอดในที่กลับรถเหมือนกัน เลยชะล่าใจไปด้วย
ทั้งนี้ตนได้ถาม รปภ. เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุว่าได้แลกบัตรเขาไว้หรือไม่ สรุปก็คือเขาไม่ได้แลกบัตรไว้ โดย รปภ. บอกว่าเขามาเร็ว และออกไปเร็ว อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่เขาเป็นคนช่วยประสานกับบริษัท รปภ. เพื่อให้บริษัท รปภ. รับผิดชอบค่าเสียหาย สุดท้าย ตนคงไม่จอดในที่นี้อีกแล้ว แม้จะยังไม่รู้สาเหตุที่ถูกทุบรถ แต่ว่าก็ต้องเลี่ยงประเด็นที่ทำให้เสี่ยงไปก่อน
กนกวรรณ นงค์นวล (ติ๊ก) ภรรยาของผู้เสียหาย เผยว่า ส่วนตัวคิดว่าผู้ก่อเหตุ เป็นคนในหมู่บ้าน เพราะเขารู้พฤติกรรมของคนในบ้านว่าช่วงไหนจะอยู่บ้านหรือไม่อยู่ แล้วก็ระบบรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านเขาก็รู้ รปภ.เป็นยังไง การเข้าออกเป็นยังไง ซึ่งถ้าเป็นคนในหมู่บ้านตนก็ยังนึกไม่ออกว่าไปมีปัญหากับใคร
ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความฯ ให้ความเห็นว่า คนที่มาก่อเหตุทุบรถ ยังไงก็ผิดอยู่แล้ว ขอหาทำให้เสียทรัพย์ มีโทษจำคุก 3 ปี ใรส่วนนี้ก็ให้พนักงานสอบสวน สืบสวนขยายผลต่อไป แต่ส่วนที่ไปจอดรถในที่ส่วนกลาง ตามกฎหมายแล้ว ถนน ที่กลับรถ ถือเป็นที่ส่วนกลาง ทุกคนไม่สามารถนำรถมาจอดได้ แม้แต่ถนนหน้าบ้านของเรา ก็ถือเป็นพื้นที่ส่วนกลางเช่นกัน ดังนั้นนิติบุคคล มีสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ หรือจัดการตั้งกรวยกั้นเอาไว้ได้ แต่ชาวบ้านจะไม่สามารถมาจับจองถนนสาธารณะได้
ส่วนการทำงานของ รปภ. หรือนิติบุคคลที่ละเลย ลูกบ้านสามารถดำเนินการฟ้องร้อง หรือเข้าไปเรียกร้อง ให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับเรื่องที่ รปภ. ไม่ได้แลกบัตรผู้ก่อเหตุ มันก็หมิ่นเหม่ว่าจะมีความผิดหรือไม่ ต้องดูว่าไม่ได้แลกบัตรแล้ว มันเป็นเหตุร้ายแรงในสัญญาหรือไม่ รปภ. มีหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อยก็จริง ซึ่งต้องดูว่ารวมรถของลูกบ้านด้วยไหม ความเห็นตนส่วนตัว มองว่า น่าจะยังไม่ถึงขั้นประมาทเลินเล่อ
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35