Google Chrome เป็นโปรแกรมท่องโลกอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า เบราว์เซอร์ ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก เชื่อว่าหลายคนน่าจะใช้งานกันอยู่แล้ว เมื่อดาวน์โหลดมา ระบบได้กำหนดค่าเริ่มต้นมาให้เรียบร้อย แต่การตั้งค่าเหล่านั้นก็อาจไม่ค่อยตอบโจทย์ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยสักเท่าไหร่ แบไต๋มีวิธีตั้งค่าให้ Google Chrome มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ข้อแรก คือการตั้งค่าไม่ให้เว็บไซต์ต่าง ๆ ติดตามเรา โดย Google Chrome ได้ใส่ฟีเจอร์ "Do Not Track" วิธีเปิดใช้งาน ให้เข้าไปที่ "การตั้งค่า" เลือกหัวข้อ "ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย" เลือกไปที่ "คุกกี้และข้อมูลอื่นของไซต์" จากนั้นกดเปิดตรง "ส่งคำขอ ไม่ติดตาม พร้อมกับการเข้าชมของคุณ" แล้วกดยืนยัน เท่านี้ก็เรียบร้อย
โดยฟีเจอร์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้เป็นการสั่งให้ Google Chrome หยุดติดตามข้อมูลการใช้งานของคุณ แต่เป็นการส่งความต้องการนี้ไปยังหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่คุณเข้าไปเยี่ยมชมว่า “อย่าเก็บข้อมูลส่วนตัวของฉันนะ” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเว็บเพจนั้น ๆ จะทำตามหรือไม่ แต่อย่างน้อยเปิดเอาไว้ก็ดีกว่าไม่เปิด
เรามาดูวิธีลบประวัติและข้อมูลคุกกี้ ซึ่งแน่นอน อาจเสียความสะดวกสบายในการท่องเว็บไปบ้าง แต่ถ้ากังวลด้านความเป็นส่วนตัวก็ต้องยอมเสียความสะดวกด้านนี้ไป มาเริ่มกันเลย ไปที่เมนู "การตั้งค่า" ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย หาหัวข้อ "ล้างประวัติข้อมูลการท่องเว็บ" และ กดที่ "ปุ่ม ล้างข้อมูล" เพื่อลบข้อมูลทั้งหมด
ขณะเดียวกัน เราสามารถเลือกได้ว่า จะลบข้อมูลที่อยู่ในช่วงเวลาใด เริ่มตั้งแต่ลบข้อมูลที่เก็บเมื่อชั่วโมงที่แล้ว , 24 ชั่วโมงที่แล้ว , 7 วันที่แล้ว ไปจนถึงลบข้อมูลตั้งแต่ต้น โดยเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่า ระบบลบอะไรไปบ้าง
ได้แก่ ประวัติการเข้าชม , คุกกี้และข้อมูลอื่นของไซต์ รวมถึงรูปภาพและไฟล์ที่แคชไว้ ทั้งนี้ถ้าเลือกการตั้งค่าการล้างข้อมูลขั้นสูง ก็จะมีให้เลือกลบรหัสผ่านในการล็อกอิน และข้อมูลแบบฟอร์มที่ป้อนอัตโนมัติ ก็สามารถลบทิ้งไปได้
สำหรับ Google Chrome เอง ก็มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยแบบอัตโนมัติมาให้ใช้งานด้วย โดยระบบจะตรวจสอบปัญหาด้านการใช้งานต่าง ๆ และแสดงผลว่าแต่ละด้านปลอดภัยหรือไม่ ทั้งการท่องเว็บไซต์ การอัปเดตต่าง ๆ ส่วนต่อขยายของ Chrome แต่ที่ส่วนมากระบบมักจะแสดงว่าไม่ปลอดภัย คือเครื่องมือการจัดการรหัสผ่าน ซึ่งเมื่อกดเข้าไปดู ระบบก็จะแสดงเว็บไซต์บางเว็บที่เราเข้าไปใช้งาน สมัครสมาชิก พร้อมได้บันทึก Username และ รหัสผ่าน ของตัวเองเอาไว้ ระบบจะคอยบอกว่า รหัสผ่านใดไม่รัดกุม ให้เราเปลี่ยนซะ หรือ สามารถลบรหัสผ่านของเราออกจากเว็บไซต์นั้น ๆ ก็สามารถทำได้
ต่อมาคือการตั้งค่าสิทธิ์อนุญาตเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของแต่ละเว็บไซต์ โดยปกติแล้วข้อมูลส่วนตัว หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของเราที่เว็บไซต์ต่าง ๆ ต้องการขอใช้ ก็จะเป็น ไมโครโฟน กล้อง ตำแหน่ง การแจ้งเตือน และอื่น ๆ ซึ่งปกติแล้ว ระบบจะขึ้นแจ้งขออนุญาตเข้าถึงให้เราเห็นเสมอเวลาเข้าไปชมเว็บ สามารถกดยอมรับ หรือ ปฏิเสธได้เลย แต่ถ้ามือลั่นไปแล้ว หรือ อยากตั้งค่าใหม่ ทำตามนี้ได้
ไปที่เมนูการตั้งค่า ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เช่นเดิม หาหัวข้อ "การตั้งค่าเว็บไซต์" กดเข้าไปแล้วเลื่อนลงมาที่ "การอนุญาต" จะพบตัวเลือกในการกำหนดสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ให้เราเลือกข้อมูลประเภทที่ต้องการตรวจสอบและแก้ไข เช่น ลองกดเข้าไปในการเข้าถึง ตำแหน่งดู ก็จะพบว่า ระบบให้เราตั้งค่าว่า จะไม่ให้เว็บไซต์ต่าง ๆ เข้าถึงเลย หรือ จะให้เว็บที่ต้องการเข้าถึง ขออนุญาตก่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ลองเลื่อนลงมาด้านล่าง ก็จะพบรายชื่อเว็บไซต์ที่เราเคยกดอนุญาตให้เข้าถึงมาแล้ว รวมถึงรายชื่อเว็บไซต์ที่เคยขอเข้าถึง แต่เราไม่อนุญาต ซึ่งเราสามารถแก้ไขรายชื่อได้ตามสะดวก
และสุดท้ายคือการใช้งานโหมดไม่ระบุตัวตน ซึ่งเราเคยทำคลิปสอนวิธีการไปแล้ว แต่ขออธิบายคร่าว ๆ อีกรอบก็ตามชื่อเลย ถ้าเปิดใช้งานเราสามารถท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่ระบุตัวตนผู้ใช้งาน โดยระบบจะไม่เก็บประวัติการท่องเว็บ คุกกี้ ข้อมูลเว็บไซต์ ข้อมูลที่เรากรอกลงบนแบบฟอร์มผ่านทางหน้าเว็บ วิธีเปิดใช้งาน ให้กด Ctrl+Shift+N หรือถ้าเป็น MacOS ให้กด Command+Shift+N ครับ เท่านี้ก็ท่องเว็บแบบปลอดภัยแล้ว
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35