logo ถกไม่เถียง

หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาทะลุ เนื้อเหวอะ รักษา 2 หมื่น ชดใช้ 3 พัน อ้างเป็นที่พักเล็ก ๆ

ถกไม่เถียง : หนุ่มร้อง ! พักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาทะลุ เป็นแผลเหวอะหวะ ชี้ ! ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ซ้ำ ! ยื่นขอค่าเสียหาย 10,000 บาท กลับได้แ ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,ช่อง7HD,TERODigital,ภูทับเบิก,ลูกค้า,รับผิดชอบ,บาดเจ็บ,พื้นแตก,ขาเหวอะ,บ่ายเบี่ยง,เจ้าของรีสอร์ท,ห้องพัก,รีวิว,ค่าที่พัก,ค่าบริการ,รักษาตัว,ค่ารักษา,โฮมสเตย์,อุบัติเหตุ,ที่พัก,รีสอร์ต

2,124 ครั้ง
|
19 ต.ค. 2565
หนุ่มร้อง ! พักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาทะลุ เป็นแผลเหวอะหวะ ชี้ ! ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ซ้ำ ! ยื่นขอค่าเสียหาย 10,000 บาท กลับได้แค่ 3,000 พัน ด้านรีสอร์ต แจง อาจเป็นการสื่อสารผิดพลาด
 
     วันที่ 19 ต.ค. 2565 ในรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ได้พูดคุยในกรณีที่ชายคนหนึ่ง ได้เดินทางไปพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งที่ภูทับเบิก และเกิดอุบัติเหตุพื้นทะลุ ทำให้ขาได้รับบาดเจ็บเป็นแผลเหวอะหวะ โดยทางรีสอร์ตแจ้งว่าจะชดใช้ 3,000 บาท จากค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดราว 20,000 บาท
 
ถกไม่เถียง : หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาท
 
     ธัญชนก โตวงษ์ (ตูน) ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปพักที่รีสอร์ตแห่งนี้เมื่อวันที่ 13 ต.ค. โดยในช่วงเช้าของวันที่ 14 ต.ค. ขณะที่ตนกำลังรับประทานอาหารและดริปกาแฟบริเวณระเบียงซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ โดยเมื่อตนก้าวขาไปยังไม่ทันลงน้ำหนักดี พื้นก็แตก ขาซ้ายของตนทะลุลงไป ได้รับบาดเจ็บบริเวณใต้เข่าและหน้าแข้ง ซึ่งช่วงแรกมีการปูดเป็นก้อนขึ้นมาขนาดเท่าลูกเทนนิส กับลูกปิงปอง โดยเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ทางรีสอร์ตได้วิ่งเข้ามาดูแล้วให้คนในกลุ่มมารักษาพยาบาลเบื้องต้น แล้วแฟนตนได้ให้รีสอร์ตแจ้งมูลนิธิให้ขึ้นมาช่วยเหลือ ต่อมา ทางรีสอร์ตแจ้งว่ามูลนิธิไม่สามารถขึ้นได้ จะรออยู่บริเวณด้านล่างภูทับเบิก ทางฝ่ายตนต้องลงไปเอง ตนจึงได้นั่งรอดูอาการต่อไปจนแผลยุบ แล้วกระเตงกันลงไปเอง และเมื่อลงไปก็ไม่เจอรถมูลนิธิแล้ว
 
     ในส่วนของการรับผิดชอบ ทางรีสอร์ตได้แจ้ง ธัญชนก ว่า หากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างไรให้ส่งใบเสร็จมา จากนั้น ก็เงียบหายไปราว 1 วัน จนวันรุ่งขึ้น (15 ต.ค.) ตนได้ไปโรงพยาบาล แพทย์ทำการรักษาด้วยการ ฉีดยาบาดทะยัก ล้างบาดแผล ขูดผิวหนังที่ตายออก และเย็บเนื้อที่หลุดออก 6 เข็ม ซึ่งตนก็นำใบเสร็จให้ทางรีสอร์ตดู แต่ทางรีสอร์ตกลับถามว่าจะให้ชดใช้อย่างไร คล้ายกับโยนหินถามทาง วันต่อมา (16 ต.ค.) ตนจึงได้เรียกค่าเสียหาย 10,000 บาท จากค่ารักษาที่คาดว่ารวมแล้วจะประมาณ 20,000 บาท ทางรีสอร์ตได้ตอบกลับมาว่าขอไปปรึกษากับทางหุ้นส่วนก่อน จนท้ายที่สุด ทางรีสอร์ตแจ้งว่า สามารถชดใช้ได้เพียง 3,000 บาท ตนจึงบอกไปว่าขอไม่รับไว้ และจะขอทำเรื่องตรวจสอบที่พัก เพราะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนั้น ทางรีสอร์ตก็ไม่ได้ติดกลับมาอีก จนกระทั่งเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา (19 ต.ค.) ได้มีบุคคลหนึ่ง แจ้งว่าเป็น “รองปลัดฯ” โทรติดต่อมาไกล่เกลี่ย ซึ่งตนก็ได้บอกไปว่า ขนาดเขาจะไกล่เกลี่ยเขายังไม่ไกล่เกลี่ยเองเลย ตนมองว่ามันน่าจะเลยจุดนั้นไปแล้ว ตนอยากจะให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมากกว่า 
 
ถกไม่เถียง : หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาท
 
     สำหรับบริเวณที่เกิดเหตุ ธัญชนก ให้ข้อมูลว่า มีการปูพื้นด้วย “สมาร์ทบอร์ด (Smartboard)” ความหนาราว 10 มิลลิเมตร (ต่อมา ทางรีสอร์ตวัดแล้ว พบว่ามีความหนา 16 มิลลิเมตร) ซึ่งตนมองว่า วัสดุแบบนี้ ควรใช้กับการทำฝ้าหรือพนังมากกว่า ไม่ควรนำมาปูพื้น เมื่อตนเห็นก็ตกใจ รู้สึกว่าทำไมตนต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงด้วย และในส่วนของพื้นด้านล่างนั้น มีลักษณะเป็นเนินลาดลงไปถึงลานจอดรถ ประมาณ 4-5 เมตร
 
     ด้าน รองศาสตราจารย์ สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลกับทางรายการว่า จริงๆ แล้ว “สมาร์ทบอร์ด” เหมาะกับการใช้งานเป็น “ฝ้า” หรือ “ผนัง” เนื่องจากทนชื้น และกันน้ำได้ดีพอสมควร แต่การจะนำมาทำเป็น “พื้น” จะต้องมีกระทง คล้าย ๆ กระทงฝ้า เป็นเหล็ก ระยะห่างวางได้แต่ 30-50 เซนติเมตร ได้หมด สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม แต่ถ้าประมาณ 30 ไม่ถึง 40 เซนติเมตร ตนคิดว่าควรใช้ 20 มิลลิเมตร ยิ่งหนาเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
 
     หนึ่ง ผู้จัดการรีสอร์ต ได้ชี้แจงว่า กรณีการขอเยียวยา 3,000 บาท จากที่ได้ยื่นมา 10,000 บาท นั้น ตนปรึกษากับเพื่อน เนื่องจาก ตนเห็นว่าตนได้แสดงความจริงใจแล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งทางตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการโทรประสานทุกอย่าง มีอาสาสมัครดูแลนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ติดต่อ 1669 ติดต่อ ศูนย์กู้ชีพ-กู้ภัย มูลนิธิสว่างมงคลศรัทธาธรรมสถาน ซึ่งต่อมาทาง 1669 ได้โทรกลับมาหาตนว่ารถไม่สามารถขึ้นมาบนรีสอร์ตได้ ตนจึงได้วางแผนที่จะเคลื่อนย้าย ธัญชนก ลงไป โดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิสว่างมงคลฯ (1669 กับ มูลนิธิสว่างมงคลฯ เป็นคนละหน่วยงานกัน) ซึ่งมีการใช้เวลาประสานงานราว 1 ชั่วโมงว่าจะขึ้นมาได้หรือไม่ โดยระหว่างนั้น ทางรีสอร์ตได้คอยดูแลสอบถามอยู่ตลอด บรรยากาศไม่มีความตึงเครียดแต่อย่างใด จนในที่สุด ธัญชนก ตัดสินใจจะขับรถไปเอง ซึ่งทางรีสอร์ตก็ได้เสนอตัวขับรถไปส่งที่รถ 1669 ทางด้านล่างภู และท้ายที่สุด รถ 1669 และรถของมูลนิธิสว่างมงคลฯ  ก็สามารถพยายามขึ้นมาได้ แต่ทาง ธัญชนก ยืนยันว่า จะขับรถลงไปเอง หนึ่ง มองว่า ข้อมูลนี้อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ในการประสานงาน จึงอยากให้ทาง 1669 และ มูลนิธิสว่างมงคลฯ เป็นผู้ชี้แจงเองจะดีที่สุด
 
ถกไม่เถียง : หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาท
 
     ในส่วนของกรณีที่ทางรีสอร์ตได้ขาดช่วงในการติดต่อ หนึ่ง อธิบายว่า ทางรีสอร์ตทำงานกันอยู่เพียง 3 คน และวันนั้นเป็นวันหยุดยาวมีลูกค้ามาก จนเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันเกิดเหตุ ตนได้ติดต่อสอบถามอาการผ่าน แอน แฟนของธัญชนก และวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการสอบถามอาการกันอีกครั้งพร้อมกับแจ้งว่าจะโทรหาในช่วงเย็น แต่ตนก็ไม่ได้โทรไป ซึ่งตนก็ยอมรับผิดเนื่องจากยุ่งอยู่ โดยวันนั้นตนเสร็จงานราวเที่ยงคืน ทั้งนี้ ทางรีสอร์ตมีห้องพักทั้งหมด 8 ห้อง โดยพวกตนเป็นคนทำอาหารและเสิร์ฟกันเอง ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะบ่ายเบี่ยงแต่อย่างใด
 
     ในประเด็นที่ ธัญชนก เรียกค่าเสียหาย 10,000 บาท แต่ทางรีสอร์ตจะจ่ายให้ 3,000 บาท หนึ่ง ได้ชี้แจงว่า ตนไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ ขอกลับไปปรึกษาเพื่อนก่อน และตนก็ได้เสนอตัวเลขไปเท่านี้ แต่ความเข้าใจขอตนคือ ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้ และมีข้อตกลงใด ๆ ตามมา ทางรีสอร์ตก็พร้อมที่จะคุย แต่เขากลับปิดจบ และที่ตนไม่ไปตอบคอมเมนต์ในโพสต์ เป็นเพราะตนเกรงว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวของทางจังหวัด ซึ่งทางผู้ใหญ่ก็ได้เข้ามาดูในเรื่องนี้ และประเด็นที่ “รองปลัดฯ” โทรหา ธัญชนก นั้น ตนก็ทราบ โดยเจตนาก็คือต้องการที่จะไกล่เกลี่ย ไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่นแต่อย่างใด
 
     สำหรับกรณีที่ใช้สมาร์ทบอร์ดในการปูพื้น หนึ่ง ยืนยันว่าระยะเหล็กที่รองแผ่นปูพื้นมีการก่อสร้างตามมาตรฐาน สามารถรับน้ำหนักได้ 150 กิโลกรัม ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและไม่อยากให้เกิดขึ้น ในส่วนของพื้นด้านล่าง มีความลาดลงไปเพียง 1 เมตร แล้วเป็นพื้นราบ ไม่ได้ลาดลงไปเลย 4-5 เมตร
 
ถกไม่เถียง : หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาท
 
     ขณะที่ สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากประกอบการ ถ้ามีค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จแล้ว เวลามีข้อพิพาทขึ้นศาล ส่วนมากศาลจะพิพากษาให้ชดใช้ตามใบเสร็จ ดังนั้น ทางรีสอร์ตควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จนั้นเลย ส่วนเรื่องของการเยียวยา ค่าเสียหายทดแทน ก็จ่ายเยียวยาไปตามสมควร และที่สำคัญ คดีแบบนี้เป็นคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ด้วย ฉะนั้น ทางที่ดีควรเจรจากันและเคลียร์ตามใบเสร็จดีกว่า
 
     ซึ่งทาง ธัญชนก เปิดเผยว่า ก็พร้อมที่จะเจรจา เช่นเดียวกับทาง หนึ่ง ก็ขออภัยสำหรับการสื่อสารที่คาดเคลื่อน และพร้อมที่จะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
 
ถกไม่เถียง : หนุ่มพักรีสอร์ตภูทับเบิก พื้นแตกขาท
 
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ”  ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/ziNuA1s8BD0