ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแล้ว เช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ คิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้น-ลดดอก” หากต้องการปิดบัญชีต้องให้ส่วนลดด้วย
ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 และให้มีผลบังคับใช้หลังจากที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน
ทั้งนี้ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หรือในลักษณะ แบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่แบบเดิม
ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้
- กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี
- กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
- กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี
ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุก 3 ปี
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อ หรือ ผู้กู้ จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดโดยให้คิดคำนวณตามมาตรฐานที่ระบุไว้ ตามขั้นดังนี้
กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ติดตาม รายการ "ข่าวเย็นประเด็นร้อน" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35