กลายเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญไปทั่วโลก หลังอดีตตำรวจกราดยิง ครูและนักเรียน เสียชีวิตทั้งหมด 37 ศพ ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของอบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ก่อนยิงตัวตายพร้อมครอบครัว พฤติกรรมฆาตกรคลั่งเกิดจากอะไรกันแน่ !
วันที่ 7 ต.ค. 65 สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เผยว่า ผู้ก่อเหตุรายนี้ เขาไม่ได้คลั่งจากยา คลั่งจากนาย เครียดจากอาชีพตำรวจ และก็เป็นอีพที่สามารถใช้อาวุธปืนได้ กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะมองเหตุการณ์นี้อย่างเดียวไม่ได้ มีเหตุการณ์มาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งที่มีเหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยกลับมามององค์กรตัวเองเลย ปัญหานี้เกิดจากองค์กร เกิดจากระบอบ และระบบ ของข้าราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตำรวจทำงานกันมาตั้งเท่าไหร่ มาพูดได้อย่างไรว่าเขาคลั่งยา คนที่คลั่งยาพฤติการณ์แบบนี้เขาทำได้หรอ มันคลั่งยาแปปเดียวมันก็ไปแล้ว อันนี้เขาจงใจ เตรียมการมาก่อเหตุ เขาตั้งใจให้เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผลต่อสังคม ทำด้วยเหตุผลที่เขาถูกกระทำมาจากองค์กร เขาถูกกดดันสะสม ตอนที่เขารับราชการมา เป็นสายตรวจของ สน.ยานนาวา ที่ถือว่าเป็น สน.เกรด B+ และตัวเขาก็ถูกย้ายมาที่ สน.ลุมพิณี ซึ่งเป็นเกรด A ถ้าตัวเขาทำงานบกพร่องคงไม่ได้ย้ายมา จนกระทั่งถูกย้ายมา สภ.นาวัง และก่อเหตุขึ้น เท่าที่ตนทราบมาเขาทำหน้าที่ปกติ เหมือนตำรวจทั่วไป มีความทะเยอทะยานอยากก้าวหน้า แต่ถูกกดขี่จากองค์กร ผู้บังคับบัญชาปล่อยให้เกิดอะไรขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เหตุผลที่เขานำมาก่อเหตุ
ส่วนที่ตัวเขาถูกไล่ออกจากราชการ เนื่องจากเรื่องยาเสพติด เขาเลยมองว่าเขาถูกกระทำ เพราะตอนนั้นเขาถูกพบยาเสพติดแค่ 1 เม็ด อีกทั้งยังมีเหตุน่าสงสัยว่าเขาตรวจปัสสาวะแล้วก็ไม่พบสารเสพติด ขณะที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มา 7 ปี ทำให้เขามองว่าเขาถูกกระทำ และสุดท้ายหลังเกิดเหตุ ก็พบว่าเขาไม่ได้มีสารเสพติด เหมือนพยายามจะโทษเขา และปัดความรับผิดชอบออกไป และโยนเขากลับมาให้สังคมรับผิดชอบ ทั้งนี้นโยบายการปราบปรามยาเสพติด อย่างที่รู้กัน ว่ามันมีแต่มากขึ้นทุกวัน ไม่สามารถปราบปรามได้ ต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นคนชี้แจง
ด้าน ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตอนแรกตนก็คาดไว้แล้วว่า ไม่น่าจะมีสารเสพติดอยูแล้ว ซึ่งปกติถ้าคนเมายาบ้า เขาจะจับคนเป็นตัวประกัน เพื่อไม่ให้คนมาทำร้ายเขา เขาจะอยู่ในภาวะหวาดระแวง แต่ว่าอันนี้มันเป็นลักษณะของการสังหารหมู่ โดยการสังหารหมู่ส่วนใหญ่ เขาจะมีเหตุจูงใจ ต้องการสร้างแรงสั่นสะเทือน เขาต้องการทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นมันกระตุกความคิดของคนในสังคมส่วนใหญ่ ให้รู้สึกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ เป็นไปได้ว่าเขาคิดไตร่ตรองมาแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ที่ก่อเหตุในลักษณะนี้มักจะถูกกระทำโดยอะไรบางอย่างมา อย่างเช่น คนเกลียดคนต่างเพศ เกลียดคนผิวสี อย่างเคสนี้ที่เรารู้กันว่าวันที่เกิดเหตุ เป็นวันตัดสินให้เขาพ้นการรับราชการ
ในขณะที่การป้องกัน จริง ๆ แล้วในองค์กร ทหาร ตำรวจ ก็ทำกันอยู่ แต่แค่ไม่จริงจังเท่านั้นเอง มีการพบจิตแพทย์อยู่เรื่อย ๆ แต่ตนมองว่าการไปพบจิตแพทย์ ไม่ค่อยได้รับการนิยมในสังคมไทย คนจะมองว่าเราบ้าหรือเปล่า ช่วงหลังนี้ก็เริ่มดีขึ้น แต่การประเมินโดยจิตแพทย์ก็ยังไม่ลึกพอที่จะทำให้เจออาการสำคัญได้ ขณะเดียวกันตนก็มองว่าการตรวจตรงนี้สำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ ที่มีอาวุธปืนอยู่ในมือ อย่างต่างประเทศเขาจะมีการตรวจอย่างละเอียดมาก มีการฝึกตัดสินใจ ฝึกจากสถานการณ์จริงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันบุคคลากรเกิดปัญหาแบบนี้
ทั้งนี้ตนมองว่า ปัญหาเหล่านี้พอมันมาผูกกับปัญหาการที่มีอาวุธส่วนตัวด้วยแล้ว ตนว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าในต่างประเทศ เวลาเขาทำงาน ตำรวจเข้าเวรก็ไปเบิกอาวุธปืนมาก็เอาไปใช้ พอเข้าเวรเสร็จก็เอามาคืน แต่ตำรวจบ้านเราต้องซื้อปืนเองกันหมด เพราะว่าปืนที่ไปเบิกมันไม่ได้มีคุณภาพพอที่จะเอาไปใช้ทำงานได้ แล้วก็พกกันตลอดเวลา ซึ่งจริง ๆ แล้วตามกฎหมายมันไม่ได้หรอก แต่ในมุมปฏิบัติเขาก็ทำกัน แล้วไอปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดกับคนอื่นซะทีเดียว เกิดกับตนเองก็มี ข้าราชการตำรวจเองฆ่าตัวตายกันก็มาก มีปืนอยู่ข้างกาย การฆ่าตัวตายมันก็ง่าย เพราะฉะนั้นหลังจากเรื่องนี้ ควรจะทบทวนกันหรือเปล่า ว่าจริง ๆ แล้วตำรวจไม่จำเป็นจะต้องมีอาวุธปืนเป็นส่วนตัวก็ได้
ส่วนประเด็นที่เขาเลือกที่จะก่อเหตุกับเด็ก ตนคาดว่า เขาน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเด็ก อาจจะมีเรื่องของลูก หรือว่าเรื่องของอะไรบางอย่างที่เขาอยากจะทำลายโจมตีตรงนั้น หรือ เขาอาจจะอยากก่อเหตุให้ดูสะเทือนขวัญมาก ๆ จึงเลือกฆ่าเด็ก มันก็เป็นไปได้ ส่วนเรื่องการป้องกันตนมองว่า ควรจะพัฒนาระบบการเบิกจ่ายที่ดีขึ้น ให้มันคล่องตัวขึ้น รวมทั้งคุณภาพปืนที่ดีพอ ไม่ให้ราชการมาซื้อปืนเอง
ขณะเดียวกัน สันธนะ กล่าวเพิ่มว่า องค์กรควรใส่ใจมากกว่านี้ เขาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่ใช่ข้าราชการชั้นสูงที่ออกมาพูดออกสื่อ เขายังหัวเราะกันได้ เขาไม่ได้เข้าใจ หรือสนใจว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเขาอยู่กันอย่างไรจริง ๆ นี่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในองค์กร ต่อไปมันก็จะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นองค์กร อย่าทำให้สังคมหลงประเด็น อย่าออกมาบิดเบือน มันคือความรับผิดชอบของพวกคุณโดยตรง
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35