logo เงินทองของจริง

เตือน ! คนไทยออมน้อย แก่ตัวพึ่งหวย-มรดก-ลูกหลาน แนะ ต้องเก็บให้ได้ 3 ล้านถึงรอด

เงินทองของจริง : ล่าสุดมีผลวิจัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่อง ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ เพื่อวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไท เงินทองของจริง,ทิน โชคกมลกิจ,ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ,เกษียณ,การเงิน,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

495 ครั้ง
|
25 ก.ย. 2565
ล่าสุดมีผลวิจัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่อง “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” เพื่อวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ พบตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40%
 
ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพสูงกว่ามิติการเงิน จึงมีโจทย์ว่าจะใช้เงินเท่าใดให้พอ ซึ่งการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่เพียงพอจะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งการที่จะทำให้เรามีเงินถึงเกณฑ์ เป็นภูมิคุ้มกันในวัยเกษียณได้นั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
 
1. เก็บก่อนใช้
 
ตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่ยังขยันขันแข็ง มีแรงทำงาน หาเงินได้ง่าย เมื่อมีรายได้เข้ามาก็ควรแบ่งส่วนหนึ่งมาออมไว้ก่อนที่จะนำไปใช้ โดยอาจตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าจะหัก 10% ของรายได้เข้าบัญชีเงินออม และพยายามใจแข็งเข้าไว้ว่าจะไม่นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้
 
2. คุมรายจ่ายให้อยู่หมัด
 
หากทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายได้จะดีมาก เราจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือน มีเงินเข้า-เงินออกเท่าไร และหากรายจ่ายดูจะพุ่งสูงไปกว่ารายได้ ก็ควรหาทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น โดยอาจรับงานเพิ่ม หรือหารายได้เสริมจากแหล่งอื่น ๆ ที่ตัวเองถนัด รวมทั้งพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ พอมีรายได้มากขึ้น รายจ่ายลดลง ก็จะมีโอกาสเก็บเงินได้มากขึ้น
 
3. เคลียร์หนี้ให้ไว
 
วัยทำงานเป็นช่วงเวลาที่หลายคนมีหนี้มีสินเยอะพอสมควร ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนโทรศัพท์มือถือ ผ่อนคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงผ่อนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ดังนั้นควรจัดการเคลียร์หนี้สินให้หมดโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะหนี้ระยะยาวอย่างหนี้บ้าน หนี้รถ และพยายามเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น จำไว้ว่ายิ่งเราเคลียร์หนี้ได้เร็วเท่าไร ภาระก็จะน้อยลงเท่านั้น และเราก็จะมีเงินเก็บเพื่ออนาคตได้ง่ายขึ้น
 
4. ลงทุนเพื่อต่อยอด
 
บางคนเลือกเก็บเงินไว้กับตัว หรือฝากบัญชีออมทรัพย์ในธนาคาร ซึ่งให้ผลตอบแทนไม่สูงมาก แต่ถ้าเราแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนดูบ้าง เช่น ซื้อสลากออมทรัพย์ ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือถ้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้นหน่อย อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนเหล่านี้จะช่วยต่อยอดเงินออมได้
 
5. ออมเพื่ออนาคต
 
หากต้องการสร้างหลักประกันให้ตัวเองมีสตางค์ใช้ในวัยเกษียณ ลองพิจารณาการออมเงินที่ให้ผลตอบแทนงอกเงยและได้ความมั่นคงยามเกษียณ เช่น กองทุนรวม RMF ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ รวมทั้งการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะสามารถเริ่มออมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี และได้เงินสมทบเพิ่มเติมจากรัฐบาลสูงสุด 100% ตามช่วงอายุ พร้อมผลตอบแทนจากการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุน นอกจากนี้เมื่ออายุครบ 60 ปี ก็จะได้เงินบำนาญรายเดือน ช่วยให้ใช้ชีวิตยามเกษียณได้อย่างสบายขึ้น
 
ถึงแม้ตอนนี้เราจะยังมีอายุไม่มาก แต่อยากให้คิดถึงอนาคตในวัยเกษียณกันด้วย ถ้าอยากมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ต้องลำบากในบั้นปลาย ควรรีบเก็บออมเงินไว้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในยามเกษียณ เพื่อจะได้เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ไร้สตางค์กันดีกว่า
 
ร่วมพูดคุยสด ๆ กับ “ทิน โชคกมลกิจ” พร้อมด้วยสาระเงิน ๆ ทอง ๆ ใน “เงินทองของจริง [LIVE]” ทุกวันอังคาร เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ทาง Facebook และ YouTube “TERO Digital” และ “Ch7HD News”
 
และติดตาม รายการ “เงินทองของจริง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/IQwlHpJtWoo

ข่าวที่เกี่ยวข้อง