หนุ่มขายที่นอนเป็นลมกลางที่ทำงาน ถูกเพื่อนร่วมงานอัดคลิปไปฟ้องหัวหน้า ใส่ร้ายว่าหลับในเวลางาน เผยป่วยเป็น "โรคนอนไม่หลับ" ด้านคู่กรณีโต้ผู้เสียหายลาออกเอง
วันที่ 13 ก.ย. 65 ศรีธนเลิศ แก้วผ่อง (พี) ผู้เสียหาย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ ข่าวเย็นประเด็นร้อน ในช่วง "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เล่าว่า ตนทำงานเป็นพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 65 วันนั้นตนเข้างานปกติ แต่ไม่ได้กินข้าวเช้าไป แล้ววันนั้นลูกค้าเยอะ มีลูกค้ามาซื้อพรมปูพื้น 10 เมตร 2 แผ่น ซึ่งตนก็ช่วยหิ้วไปส่งให้ลูกค้า พอกลับขึ้นมาก็รู้สึกว่าจะหน้ามืด เหมือนจะเป็นลม เลยไปบอกรุ่นพี่ในแผนก รุ่นพี่ก็บอกให้ไปนั่งพักในห้องเก็บของก่อน แต่ตนกลัวหัวหน้ามาเห็น แล้วคิดว่าตนอู้ เลยแอบนั่งพักตรงบริเวณขายที่นอน หลังจากนั้นตนก็ไม่รู้ตัวแล้ว มารู้อีกทีตอนที่รองผู้จัดการมาสะกิดเรียกให้ตื่น ตนจึงอธิบายให้เขาฟัง จากนั้นช่วงประมาณ 15.00 น. เขาก็นำใบเตือนมาให้ตนเซ็นรับทราบว่าตนทำผิดกฎบริษัทฯ ซึ่งในใบนั้นตนอ่านแล้ว ก็ระบุว่าแค่ว่าเตือนเฉย ๆ จึงเซ็นรับทราบไป
จากนั้นตนทำงานเสร็จเลิกงานกลับบ้าน ก็มีโทรศัพท์จากบริษัทฯ โทรมาตอน 21.00 น. แจ้งว่า "ไม่ต้องมาทำงานแล้ว" เขาอ้างว่า ไม่ได้เกี่ยวกับที่ตนโดนใบเตือน แต่มีลูกค้าร้องเรียนเข้ามา ตนก็สงสัยเพราะตอนนั้นมันไม่มีลูกค้า แล้วใครเป็นคนร้องเรียน ซึ่งตนสงสัยรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่คนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นตนเข้าไปรับแฟนสาวที่บริษัทฯ จึงสบโอกาสเข้าไปถามรุ่นพี่ที่ตนสงสัย โดยตอนแรกเขาก็ไม่ยอมรับปฏิเสธอย่างเดียว จนตนถามเซ้าซี้ไปเรื่อย ๆ เขาถึงหลุดออกมาว่าเป็นคนอัดคลิปเอง ตนเลยถามเขาว่า "ถ้ากลัวลูกค้าเห็นทำไมไม่ปลุก ตนไม่ได้อู้ ตนเป็นลม" เขาตอบกลับมาว่า "มันไม่ใช่หน้าที่พี่ ที่ต้องมานั่งเข้าใจ หรือว่าอะไรใคร" ตนได้ยินแบบนี้ก็ไม่รู้จะคุยอะไรต่อ
ส่วนที่คู่กรณีบอกว่าตนลาออกเอง ตนขอยืนยันว่าตนไม่ได้ลาออกเอง ตนเซ็นแค่ใบเตือน และมีพยานด้วยว่าที่ตนเซ็นเป็นแค่ใบเตือน ไม่ใช่ใบลาออก ถ้าเป็นใบลาออกจะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง อีกทั้งหากจะให้ออกจากงานต้องถูกเตือนก่อน 3 ครั้ง ขณะเดียวกัน หากคู่กรณีจะฟ้อง ตนก็พร้อมจะสู้ เพราะตนมีหลักฐานว่าตนไม่ได้อู้หลับ ตนป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ ทำให้วันที่เกิดเหตุเป็นลม
ด้าน ณัฐธยาน์ ศรีสวัสดิ์ (ฟรอยด์) แฟนผู้เสียหาย เล่าว่า ตนทำงานที่เดียวกับแฟน ยืนยันได้ว่า ช่วงเวลาที่เกิดเหตุไม่มีลูกค้า จึงมั่นใจว่าไม่ใช่จากที่ลูกค้าร้องเรียน ส่วนรูปเคสที่ถูกนำไปร้องเรียนกับบริษัทฯ เขาไม่ได้เอาให้ตนดู เลยสงสัยว่าทำไมถึงไม่ให้ตนดู และสงสัยว่าใครเป็นคนถ่าย และส่งไปร้องเรียนกับทางบริษัทฯ คิดว่าเรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า
คุณพี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องบาดหมางกันส่วนตัว เพราะตนเพิ่งมาทำงานที่นี่ไม่ถึง 1 เดือนเลย ส่วนผลกระทบตอนนี้ คือไม่มีงานทำเลยตั้งแต่ถูกไล่ออก ก่อนหน้านี้ก็ไปสมัครงานอีกห้างหนึ่ง แต่เป็นเครือเดียวกัน ตอนแรกเขาก็นัดวันเริ่มงานแล้ว แต่ถูกปฏิเสธในภายหลัง เพราะตนมีประเด็นเรื่องนี้อยู่ ขณะเดียวกันไปแจ้งความมาแล้ว แต่ตำรวจให้นำใบเคสมาด้วย เลยได้แค่บันทึกประจำวัน
ฟาก กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เคสนี้ต้องมาดูว่า ผู้ที่แจ้งมีอำนาจในการแจ้งหรือไม่ ส่วนในใบเตือนก็ต้องดูว่าตอนที่เราเซ็น เขาระบุว่าให้ออกหรือแค่เตือน อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วการที่จะให้ออกจากงานมันจะต้องมีหลักฐานของการกระทำความผิด เพราะฉะนั้น ตามขขบวนการของบริษัทฯที่จะเตือนพนักงานก่อน 3 ครั้ง ถึงจะให้ออก เขาก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง สามารถให้ออกได้เลย ไม่ต้องมีใบเตือนได้เลย แต่ในกรณีนี้ตนมองว่าเป็นประเด็นเรื่องของสุขภาพ เขาควรดำเนินการเตือนก่อน
ทั้งนี้ถ้าหากผู้เสียหาย มีปัญหากับนายจ้าง คิดว่านายจ้างล่วงละเมิดสิทธิเรา ก็สามารถโทรปรึกษาเราก่อนก็ได้ แต่ถ้ามั่นใจว่าเรามีหลักฐานข้อเท็จจริง ก็สามารถเดินทางไปร้องเรียนตามเขตที่เกิดเรื่องได้เลย จะมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปฏิบัติงานอยู่
ขณะที่ ทนายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า กรณีนี้ สามารถดำเนินคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาท ถือว่าเป็นการใส่ความให้เกิดการเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันนี้เข้าข่ายจากกรณีที่บริษัทฯเดิม เอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปให้บริษัทฯใหม่ ผิดตามมาตรา 27 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35