ปัจจุบันการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามี 2 แบบคือการชาร์จแบบ AC และ DC ทั้งสองแบบนี้ต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง แบไต๋มีคำตอบ
การชาร์จแบบ AC ย่อมาจาก Alternating Current หรือชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นระบบไฟฟ้าแรงดัน 220 โวลต์ ที่ใช้กันในบ้านเรือนทั่วไป อาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า เหมาะสำหรับการชาร์จที่ต้องจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน
ข้อดีของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC คือ
- ใช้งานง่าย ติดตั้งได้ที่บ้าน รองรับการชาร์จได้สูงสุด 3-22 kW (ขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าที่บ้าน กำลังไฟของตู้ชาร์จและรถยนต์ไฟฟ้ารับไฟได้เท่าไหร่)
- ชาร์จได้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น รวมไปถึงรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด
- ค่าไฟต่อหน่วยถูกที่สุด ยิ่งบ้านไหนมีมิเตอร์ TOU (Time of Use) ในช่วง Off Peak ตกอยู่ที่หน่วยละ 2.6369 บาทเท่านั้น
- สามารถชาร์จข้ามคืนได้ ไม่ต้องกลัวว่าแบตจะเสื่อม
ข้อเสียของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC คือ
- ใช้เวลาการชาร์จค่อนข้างนาน ประมาณ 6-8 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่)
- ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านส่วนตัว เพราะไม่มีที่ติดตั้งตู้ชาร์จ
ส่วนการชาร์จแบบ DC ย่อมาจาก Direct Current คือการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง นิยมใช้ในสถานีชาร์จ ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จไฟ เนื่องจากเป็นการจ่ายไฟเข้าสู่แบตเตอรี่โดยตรง
ข้อดีของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบไฟแบบ DC คือ
- ชาร์จไฟฟ้าได้เร็วที่สุดประมาณ 30 นาที แต่จะชาร์จไฟได้ถึงระดับ 0-80% เท่านั้น เพื่อป้องแบตเตอรี่เสื่อม
- ได้แวะพักระหว่างการเดินทางไกล เพียงชาร์จไฟ 15 นาที ก็วิ่งได้ต่อหลายร้อยกิโลเมตร
ข้อเสียของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบไฟแบบ DC คือ
- ค่าไฟต่อหน่วยมีราคาสูง ประมาณหน่วยละ 7 บาทเลยทีเดียว
- สถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมมากนัก ทำให้ต้องวางแผนการเดินทางระยะไกลอยู่
- มีผู้ให้บริการสถานีชาร์จ DC หลายเจ้า ทำให้ต้องโหลดแอปพลิเคชันหลายแอปฯไว้ติดเครื่อง
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35
VIDEO