ปมดรามาในโซเชียล จากกรณี หนุ่มทำรถตก "ที่จอดรถอัตโนมัติ" ในคอนโด แต่โดนค่ายกรถแพงหูฉี่กว่า 1 ล้าน จนกลายเป็นที่ถกกันว่าสรุปแล้ว ใครเป็นคนผิด !?
วันที่ 26 ส.ค. 65 เจมส์ (นามสมมติ) ผู้เสียหาย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ ข่าวเย็นประเด็นร้อน ในช่วง "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เล่าว่า วันที่เกิดเหตุตนไปธุระข้างนอก แล้วกลับมาที่คอนโดเพื่อจะอาบน้ำ และออกไปธุระต่อ จึงนำรถไปจอดไว้ใน Auto Parking ตามปกติ จากนั้นตนก็ขึ้นห้องไปอาบน้ำตามปกติ แล้วก็มีข้อความส่งมาว่า ระบบลิฟท์ของช่องจอดรถเกิดขัดข้อง ไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งตอนนั้นเขาก็ไม่ได้แจ้งว่าเป็นรถตน ตนจึงต้องนั่งแท็กซี่เพื่อไปทำธุระ จนกระทั่งนิติโทรมาแจ้งตนว่ารถตกลิฟท์
ในวันนั้นตนค่อนข้างที่จะรีบ และคงเป็นความประมาทของตนด้วยที่ไม่ได้ดูให้ดีว่ารถอยู่ในเกียร์ N ไม่ใช่เกียร์ P แต่ว่ามันมีอีกหนึ่งประเด็น คือตามปกติแล้วรถต้องใส่เกียร์ P ก่อนจึงจะล็อกรถจากรีโมทได้ เราจะเห็นว่ากระจกข้างพับ แต่พอมาใช้อันนี้ไม่ว่าจะใส่เกียร์ P ก็ไม่สามารถล็อกรถได้ มันส่งผลให้ตนละเลยตรงจุดนี้ไปด้วย ซึ่งนิติก็ไม่สามารถตอบตนได้เหมือนกันว่าสาเหตุมาจากอะไร เขาบอกแต่ว่าบางคันล็อกได้ บางคันก็ล็อกไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่า ไม่ได้ใส่เกียร์ P สามารถดับรถได้หรอ ตนยืนยันว่าสามารถดับได้ และมันอาจจะมีสัญญาณเตือน แต่พอปิดประตูมันก็ดับไป และด้วยที่ตอนนั้นตนกำลังคุยโทรศัพท์ธุระเรื่องานอยู่ เลยประมาทตรงนี้ไปด้วย
หลังจากเกิดเหตุแล้ว เขาก็ให้ตนโทรเรียกประกัน เพื่อมาคุยในการดำเนินการว่าจะเอายังไง แต่ก็ถกเถียงกันมาแล้ว 8 เดือน ก็ยังไม่สามารถเอาออกได้ โดยตนเคยเอาช่างจากข้างนอกไปคุยกับฝ่ายเทคนิคของเขา แต่ก็มีปัญหา มันไม่สามารถเอาออกได้ เขาบอกว่าน๊อตสักตัวก็ห้ามเอาออก ตนพยายามคุยพยายามติดต่อตลอด เพราะอยากเอารถออกมามาก ไม่มีใครอยากผ่อนกุญแจเปล่า ๆ ทั้งที่ไม่สามารถใช้รถได้
สุดท้ายผ่านมา 8 เดือน ทางคอนโดนเขาแจ้งค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 1,035,760 บาท แบ่งเป็น ค่าแก้ไขโครงสร้างลิฟต์และย้ายรถออก 550,000 บาท ค่าวิศวกรและการคำนวณ 55,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการผลิต 363,000 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 67,760 บาท โดยค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้เขาประชุมกันเอง โดยที่ไม่ได้มีฝ่ายตนเข้าไปคุยเจรจาเลย
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าแม้เขาจะมีป้ายเตือน ให้ดึงเบรกมือ และใส่เกียร์ P แต่เปอร์เซนต์การผิดพลาดมันยังไม่เท่ากับศูนย์ มีโอกาสที่คนจะลืมกันได้ จึงคิดว่าเขาน่าจะมีการทำให้ล้อมันล็อกไปเลย
ด้าน นิตย์ แม่ผู้เสียหาย เผยว่า ตนเจอตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ทางคอนโดนเรียกมา ที่ล้านกว่าบาท ตนรับไม่ได้ ไม่ไหว ขณะเดียวกัน ตนไปหาคนมายกรถจากข้างนอก เขาตีราคาไว้ที่ 3 หมื่นบาทโดยเขาจะใช้คนอุ้มออกมาทั้งแนวตั้งแบบนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ทางคอนโดไม่อนุมัติ เขากลัวกระทบกับระบบ
ด้านประกัน ได้ทำประกันชั้น 1 ไว้ เขาบอกว่าจะซ่อมรถให้อย่างเดียว เรื่องการดำเนินการเอาออก เขายังไม่พูดถึงว่าจะช่วยยังไง ให้เอารถออกมาก่อน
ขณะเดียวกัน ชิตณุพงศ์ พนาลิกุล ทนายความ เผยว่า ตนคิดว่ายังไงก็ต้องฟ้อง ตนมุ่งไปที่ประเด็นมาตรฐานความปลอดภัย ในการก่อสร้างที่จอดรถอัตโนมัติ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522 มาตรา 21 ว่ามีการก่อสร้าง ตรวจสอบความปลอดภัยได้ตามมาตรฐานไหม โดยตอนนี้ร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และเขาประสานเรื่องไปยัง กรมที่ดิน กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ากรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายประมาทร่วม
ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความเห็นว่า การที่ทางคอนโดน ติดป้ายเตือนว่าอันตราย นั่นแสดงให้เห็นว่าคอนโดรู้อยู่แล้วว่าระบบการจอดรถอันนี้ มันอันตราย ดังนั้นในเมื่อมันอันตรายแล้วทำไมถึงปล่อยให้มันเกิดอันตราย จะโยนความผิดให้น้องคนเดียว มันไม่ใช่
ตามหลักการเมื่อเกิดความเสียหาย หากดูตามหน้าที่ ตัวน้องเจมส์มีหน้าที่ในการจอดรถ ส่วนคอนโดมีหน้าที่ จัดการให้ลูกบ้านจอดรถได้อย่างปลอดภัย เช่น ต้องมีรปภ.มาช่วย หรือระบบการจอดรถได้มาตรฐานหรือยัง ความประมาทมันไม่ได้เกิดจากน้องอย่างเดียว ถ้าเอาตามจริง ตัวล็อกล้อถ้ามันดีพอ แม้ใส่เกียร์ N มันก็จะไม่ไหล
"คุณติดป้ายว่าอันตราย แต่คุณก็มีหน้าที่จัดการให้มันปลอดภัยได้" ร.ต.อ.วิษณุ กล่าว
ส่วนเรื่องของประมาท ต้องมาดูว่าใครประมาทมากกว่าใคร สามารถเรียกร้องกันได้ทั้งคู่ แต่ต้องอยู่ในความพอดี อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า อย่างน้อยก็ควรเอารถออกมาจากจุดเกิดเหตุ ส่วนค่าเสียหาย จะมาเรียกกันทีหลังก็ยังได้
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35