จากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ทำให้กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่เพิ่มขึ้น 5-8% หรือเฉลี่ยราว ๆ อยู่ที่ 15-26 บาท ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในต้นเดือนกันยายน และตั้งใจให้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม (จากปกติการขึ้นค่าจ้างจะเริ่มใน 1 มกราคม) เพื่อให้ทันกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับตัวเลขที่เห็นนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าได้มีการหารือกับนายจ้าง ผู้ประกอบการ และฝ่ายลูกจ้างแล้ว ได้มีการพูดคุยและตกลงประนีประนอม ยอมลดอัตราการปรับขึ้นค่าแรงจากเดิม 492 บาท ทั่วประเทศ และยอมรับได้กับตัวเลข 5-8% แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 ตุลาคม 2565
เหมือนจะเป็นข่าวดี แต่กลับไม่ดีอย่างที่คิด เกี่ยวกับประเด็นเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ตามภาวะเงินเฟ้อ เพราะในมุมมองของลูกจ้างเห็นว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเกือบ 3 ปี แล้ว โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313 ถึง 336 บาท แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ การปรับค่าแรงเพียงแค่ 5-8% จึงไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการไตรภาคี ที่จะมีการประชุมในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เกิดความสมดุล ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ภาวะเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการค่าจ้าง (ฝ่ายนายจ้าง) กล่าวในเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ยังไม่ได้เคาะตัวเลข ดังนั้นอาจมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขได้ ซึ่งมองว่าตัวเลข 5-8% เป็นอัตราในภาวะชดเชยเงินเฟ้อได้ ส่วนจังหวัดไหนขึ้นเท่าไหร่นั้น คงตอบไม่ได้ เพราะการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งต้องพิจารณาหลายมิติ
ติดตาม รายการ “เงินทองของจริง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และ ติดตามการออกอากาศแบบสด ผ่านไลฟ์บนช่องทางออนไลน์ ทุกวันอังคาร เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป
+ อ่านเพิ่มเติม