"โรคมะเร็ง" คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปอย่างมากมาย เป็นภัยที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้ "ถกไม่เถียง" เชิญผู้ป่วยมะเร็งปอด ระยะสุดท้าย ป่วยมากว่า 2 ปี แต่ยังคงรักษาและใช้ชีวิตๆได้แบบปกติจนถึงทุกวันนี้ เราจะมาเผยมุมมอง วิธีการดูแลร่างกายของเธอให้ชมกัน
วันที่ 10 ส.ค. 65 จิตนิภา ภักดี (ออย) ผู้ป่วยมะเร็งปอด ระยะที่สี่ และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ออย - Cancer Diary ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ ข่าวเย็นประเด็นร้อน ในช่วง "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกกิจ เล่าว่า ตนรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เมื่อปี 63 ตอนที่หมอบอกว่าตนเป็นมะเร็ง ตอนนั้นตนคิดอะไรไม่ออกเลย เพราะไม่เคยสัมผัสกับคำว่ามะเร็ง เคยได้ยินแต่ในข่าว แถมตอนนั้นตนอายุเพียง 29 ปี ชีวิตกำลังไปได้ดี แต่เหมือนถูกดึงตกลงมา ด้วยวัยเท่านี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ตนก็ไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นเช่นกัน แต่ที่หนักมากกว่าหนักใจกับตัวเอง คือไม่รู้ว่าจะบอกกับคุณแม่ยังไง ว่าลูกเป็นมะเร็ง ถึงกับร้องไห้ออกมา ช่วงชีวิตที่ผ่านมา ตนใช้ชีวิตโดยไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ เป็นคนที่ค่อนข้างดูแลสุขภาพดีระดับหนึ่ง
สำหรับแนวทางการรักษา ตนคิดว่ายังไงก็ต้องให้คีโมแน่ ๆ จนคุณหมอมาให้ความรู้ว่า ในปัจจุบัน มะเร็งปอดมันมีหลายชนิด และวิธีการรักษาก็แตกต่างกันไป ซึ่งตนเป็นมะเร็งปอดชนิดที่มียีนส์กลายพันธุ์ การรักษาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยให้คีโมเลยสักครั้ง แต่ต้องกินยาวันละ 1 เม็ด
ด้าน พ.อ.รศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เผยว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โรคมะเร็งปอดมีวิวัฒนาการเยอะมาก และก้าวกระโดดค่อนข้างเร็ว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโรคมะเร็ง พอเจอการเสียชีวิตเยอะขึ้น ทำให้เกิดการศึกษาว่าต้นตอของมันเกิดจากอะไร เพราะฉะนั้นตอนนี้การรักษามะเร็งปอดที่เป็นระยะแพร่กระจาย ลุกลามไปที่อื่น อันดับแรกเลย ต้องมาดูว่าต้นตอของมันหลัก ๆ ผิดปกติตรงจุดไหน หลังจากนั้นก็จะหายาที่รักษาเฉพาะจุด หรือที่เคยได้ยินกันว่า "ยามุ่งเป้า" พอตรวจแล้วว่าผิดปกติตรงจุดไหน เราก็ให้ยาที่รักษาตรงจุด ซึ่งวิธีนี้จะให้ผลดีกว่าการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งปอด ในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน นอกจากยามุ่งเป้าแล้ว ก็จะมียาเคมีบำบัด และกลุ่มยาภูมิคุ้มกันบำบัด เราจะเลือกแบบไหนก็อยู่ที่ตัวคนไข้ ถ้าหากตรวจแล้วบังเอิญไม่เจออะไรเลย ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การรักษาแบบเคมีบำบัด
ส่วนผลข้างเคียง ของยามุ่งเป้า กับพวกยาเคมีบำบัด นั้น ยาเคมีบำบัดอาจจะมีผลข้างเคียงเยอะกว่า แต่ในปัจจุบัน วิวัฒนาการในการดูแล เป็นแบบประคับประคอง เช่น ลดการคลื่นไส้อาเจียน หรือปัญหาเรื่องท้องเสียต่าง ๆ นา ๆ ก็มีการดูแลที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ยาเคมีบำบัดในปัจจุบัน ก็เป็นกลุ่มใหม่ ๆ ในแง่ของผลข้างเคียงก็ลดไปเยอะมาก ถ้ามาหาหมอตามรอบที่นัด ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหา
ขณะที่ คุณออย กล่าวเพิ่มว่า ของตนกิน "ยามุ่งเป้า" มาตัวที่ 2 แล้ว ตัวแรกตนกินได้ประมาณ 17 เดือน แล้วมันดื้อยา มะเร็งมันโตขึ้น จึงต้องทำการตรวจอีกทีว่ากินยาตัวใหม่ได้ไหม ซึ่งก็โชคดีว่าอยู่ในกลุ่มที่กินยาตัวใหม่ได้ จึงรักษาด้วยการกินยามุ่งเป้าต่อได้ จนถึงตอนนี้เข้าเดือนที่ 29 ส่วนของค่ารักษา ตนเบิกจ่าย จากสิทธิจ่ายตรงของข้าราชการ ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนของยามุ่งเป้าเลย ส่วนในอนาคต หากยาตัวที่ 2 ที่ตนกินมันดื้อยา ตนไม่ค่อยกังวลในข้อนี้ เพราะว่าตนยอมรับมัน ว่ามะเร็งที่ตนเป็น มันไม่สามารถรักษาให้ขายขาดได้อยู่แล้ว จุดมุ่งหมายของการรักษาคือ ควบคุมมันไปเรื่อย ๆ ไม่ให้มันเกิดการลุกลาม เราจึงปรับที่ตัวเราเองว่า ณ วันหนึ่ง ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่แล้ว
แต่ตนก็รู้สึกโชคดีที่เป็นมะเร็ง เพราะว่า ก่อนหน้าจะเป็นมะเร็งตนใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย จนลืมคิดไปว่า ยังไงทุกคนก็ต้องตาย แม้ว่าจะไม่เป็นมะเร็ง มันเลยทำให้ตนผลัดวันประกันพุ่งในสิ่งที่ต้องทำบ้าง มะเร็งเข้ามาเตือนสติตน ว่าพรุ่งนี้มันอาจจะไม่มีแล้ว ทำให้ตนใช้ชีวิตทุกวันนี้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ ตนก็ใช้ชีวิตปกติ ถ้าออกนอกบ้านไม่ได้บอกใคร ก็ไม่มีใครรู้ว่าตนเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ตนก็เพิ่งเดินทางไปเที่ยว เดินป่า น้ำตก ไปกลับ 7 กิโลเมตร
"ออยมองว่า มะเร็งมันจะไม่น่ากลัวหากเราคุมมันให้สงบได้" คุณออยกล่าว
ขณะเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า มะเร็งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการล้มละลายได้ ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยา รังสีรักษา การผ่าตัดจะอยู่ในสิทธิประโยชน์หมด
ในขณะที่ ยามุ่งเป้า ตัวที่คุณออยใช้ ก็อยู่ในทุกระบบของหลักประกันสุขภาพ อย่างที่ สปสช. ก็เข้ามา 2 ปีแล้ว ในแต่ละปีก็มีการใช้มากขึ้น โดย โรคมะเร็งปอด ในระบบหลักประกันสุขภาพ พบปีละ 6 พันคน
เพราะฉะนั้นในระบบหลักประกันสังคม เราจะแยกการรักษาโรคมะเร็งทั้งหมด เป็นอวัยวะ ตอนนี้ประมาณ 21 อวัยวะ มียาที่ดูแลร้อยกว่าตัว ก็ให้ความมั่นใจเลย มะเร็งทุกอวัยวะ อยู่ในสิทธิประโยชน์ ไม่ใช่แค่มะเร็งปอด จะได้รับการคุ้มครองทุกสิทธิ ทั้ง สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ส่วนยาตัวที่ 2 ที่คุณออยใช้ มันเป็นยาตัวใหม่ อันนี้สิทธิอื่นยังไม่ได้รับนอกจากสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ทั้งนี้โรคมะเร็งจะวิวัฒนาการค่อนข้างเร็ว เราจึงต้องคอยติดตามเทคโนโลยี และอย่างที่ทราบกันว่าราคามันค่อนข้างแพง บางตัวยาก็อันตราย อย่างไรก็ตาม เรามีคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ มาวิเคราะห์ประเมินกันทุกปี ถ้าหากเราประเมินแล้วว่ามันคุ้มค่า และอยู่ในวิสัยทัศน์ที่ระบบเราดูแลได้ เราก็จะบรรจุเข้ามาอยู่ในสิทธิประโยชน์ให้
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35