ทำดีไม่ได้ดี ! รปภ. ช่วยคนจนนิ้วขาด แต่นายจ้างไม่ช่วยค่ารักษาพยาบาล หาว่าไม่เกี่ยวกับการทำงาน เดินหน้าร้องประกันสังคมกลับฟังแต่นายจ้างข้างเดียว แฟนสุดช้ำ ! ถามตรง เขาต้องเสียนิ้วฟรีเหรอ ?
ธงชัย สละทอง (เอ๋) อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้เสียหาย เล่าว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ตนเข้าเวรยามตามปกติที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านถนนพระรามที่ 2 โดยเวลาประมาณ 13.30 น. มีพนักงานเข็นรถเข็นของผู้ค้ามาด้วยรถจักรยานยนต์ ทันใดนั้น เสื้อของพนักงานคนดังกล่าวก็เข้าไปติดกับสเตอร์รถจักรยานยนต์ ส่งผลให้รถเข็นคว่ำหน้าลง เมื่อเห็นดังนั้น ตนจึงรีบวิ่งเข้าไปช่วย โดยเอามีดเข้าไปตัดเสื้อออกแล้วเอามือไปดึงเสื้อที่ติดอยู่ แต่เนื่องจากเครื่องยนต์ยังทำงานอยู่จึงทำให้มือของตนถูกดึงรูดเข้าไป ตนจึงรีบดึงออก แล้วแจ้งให้หัวหน้านำตนไปส่งโรงพยาบาล โดยหัวหน้าได้พาตนไปโรงพยาบาล ดีเอ็นพี พระราม 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิฯ แต่หัวหน้ายืนยันว่าไปได้เนื่องจากเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน จากนั้น โรงพยาบาลก็แจ้งรายละเอียดไปยังบริษัทว่าจะใช้เงินกองทุนอะไรในการออกค่ารักษาพยาบาล
สำหรับอาการบาดเจ็บ ธงชัย ให้ข้อมูลว่า นิ้วชี้ซ้าย เส้นเอ็นขาด กระดูกแตก ต้องใช้เหล็กดาม และนิ้วโป้งซ้ายขาดเกือบครึ่งข้อ โดยโรงพยาบาลให้พักรักษาตัว 4 คืน รวมค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด 50,800 บาท จนกระทั่งใกล้วันที่ 23 มิ.ย. 2565 ทางโรงพยาบาลติดต่อกลับมาว่า ทางบริษัทระงับเงินกองทุนไว้ เนื่องจากอุบัติเหตุดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทำให้ตนต้องหาเงินมาชำระค่ารักษาพยาบาลเอง
ขนิษฐา ทองปรางค์ (ยุ้ย) แฟนของผู้เสียหาย เปิดใจทั้งน้ำตาว่า ขณะนี้ตนไม่มีเงิน 50,800 บาท ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะตอนนี้ ตนต้องทำงานอยู่คนเดียว ค่าบ้านก็ต้องผ่อนเป็นรายสัปดาห์ เพราะหาเงินมาจ่ายไม่ทัน ครั้นไปสำนักงานประกันสังคมก็ไม่รับเรื่องอะไรสักอย่าง กลับให้ยื่นเรื่องว่างงาน จึงถามไปว่า ถ้าอย่างนั้น แฟนตนก็นิ้วขาดฟรีเหรอ เขาก็ตอบกลับมาว่าใช่ เพราะเขาเชื่อในหนังสือของนายจ้างมากกว่า ซึ่งตนก็ข้องใจว่าหากนายจ้างให้ข้อมูลเท็จเขาก็เชื่อตามนั้นเหรอ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการมาสอบสวนอะไรกับแฟนตนเลย อีกทั้งวันเกิดเหตุ หัวหน้าชุดของแฟนตนเป็นคนนำไปส่งโรงพยาบาล ก็เป็นที่ยืนยันได้ว่าแฟนตนได้รับบาดเจ็บขณะการทำงานจริง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์ถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมเขาไม่รับอะไรเลย
เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด กล่าวว่า หากวันนั้น ธงชัย ยืนอยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปช่วย แล้วมีผู้ถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ไว้ นายจ้างก็คงมาตำหนิธงชัยอีก แต่พอวันนั้นเขาลงไปช่วยเหลือ แล้วเกิดอุบัติเหตุจริง นายจ้างก็ควรจะชื่นชมเขา เอกภพ ได้ให้ความเห็นต่อไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่แน่นอน กอปรกับเป็นหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยตรง เมื่อมันเกิดอุบัติเหตุตรงนั้นก็ไม่ควรจะตีความเป็นอย่างอื่น
จำรุญ ทวีเขตร์กิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรฐานและระบบเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในกรณีนี้ ตนเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติเนื่องจากเป็นการฟังความนายจ้างเพียงข้างเดียว โดยปกติแล้ว ในกรณีที่ลูกจ้าประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เป็นหน้าที่ของในจ้างที่ต้องแจ้งสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน แต่ถ้านายจ้างไม่แจ้งเอง ลูกจ้าก็มีสิทธิที่จะแจ้งได้ภายใน 180 วัน ซึ่ง จำรุญ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับ แล้วไปสืบหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ว่าเข้าลักษณะเกี่ยวข้องกับการทำงานหรือไม่ แล้วก็ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป พร้อมให้คำมั่นว่าสามารถยื่นเรื่องกับตนโดยตรงได้เลย
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35