กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในโลกออนไลน์ หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพอาหารกลางวันนักเรียนที่ดูแล้วปริมาณและคุณภาพ ไม่น่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ ด้าน ผอ.โรงเรียนแห่งนี้ ก็ยืนยันว่าพร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบหลังเจอดรามาบนโลกโซเชียล
เพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น 3 ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า ร้องเรียนตรวจสอบ ณ ตอนนี้ข้าวของก็แพงขึ้น อาหารกลางวันของเด็กนักเรียนยังไหวอยู่ไหม และถ้าการบริหารจัดการดี ๆ จะดีกว่านี้หรือไม่ อาหารกลางวันของเด็ก รร.แห่งหนึ่งในประจวบฯ สื่อสังคมช่วยตรวจสอบและขยายผลไปถึงงบประมาณค่าอาหารกลางวันต่อหัว มันพอหรือไม่ อาหารกลางวันได้รับการจัดสรรหัวละ 21 บาท ดูจากถาดอาหาร มีอาหารกับผลไม้ ลองคิดกันดูว่าถึงหัวละ 21 บาทหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีการระบุอีกว่า ราคาต่อหัวละ 21 บาท × 227 (จำนวนเด็กทั้งหมด) 227 คน เท่ากับเงิน 4,767 ต่อวัน (ตกเดือนหนึ่ง ๆ ใช้งบหลักแสน) และอาหารที่โรงเรียนจัด ตามรูปภาพ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จึงทำให้นักเรียนเสียโอกาสเรื่องอาหารกลางวัน โดยไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบได้รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว
ทีมข่าวได้ลงพื้นที่พร้อมกับติดต่อไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งพบว่า เป็นโรงเรียนอนุบาลบางสะพานน้อย โดย น.ส.จันทัปปภา ปิ่นเกตุ ผอ.โรงเรียนอนุบาลบางสะพานน้อย อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขอเรียนว่าภาพดังกล่าวเป็นนักเรียนชั้น ป.1 รับประทานอาหารประกอบด้วยผัดไทยและผลไม้เชื่อม โดยนักเรียนรายดังกล่าวปกติเป็นเด็กที่รับประทานอาหารได้ไม่มาก
ส่วนภาพที่หลุดออกไป น่าจะเป็นภาพที่บุคลากรในสังกัดเป็นผู้บันทึก เนื่องจากบุคลากรรายนี้อาจจะไม่พอใจการบริหารงานของตนที่เข้มงวด และส่วนตัวยืนยันว่าพร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันนักเรียน
ผอ.โรงเรียนอนุบาลบางสะพานน้อย บอกอีกว่า ปกติโรงเรียนจะให้เด็กนักเรียนทุกคนสามารถเติมอาหารได้ หากอาหารในถาดรับประทานไม่เพียงพอ ขณะที่โรงเรียนได้จัดทำโครงการอาหารกลางวันตามงบประมาณที่รับจัดสรรให้เด็กนักเรียนรับประทานตามหลักโภชนาการ ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ เบื้องต้นหลังจากมีปัญหาได้ทำหนังสือรายงานให้สำนักงานเขตการศึกษา เขต 1 จ.ประจวบคีรีขันธ์ทราบแล้ว
ดรามาอาหารกลางวันเด็กนักเรียนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาจจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป แต่เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่าน มีการออกมาแฉในประเด็นอาหารกลางวันอีกเหมือนกัน
เพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ เจ้าเดิม ก็ได้โพสต์ข้อความพร้อมกับภาพ ระบุว่า โรงเรียนในสังกัด กทม.ส่งเข้าประกวด ลงเพื่อกระตุ้นให้สื่อสังคมช่วยตรวจสอบว่า งบประมาณต่อหัวในปัจจุบันมันพอไหม และถ้าการบริหารจัดการดี ๆ มันจะดีกว่านี้หรือไม่
วันนี้ได้เห็นโพสต์อาหารกลางวัน หัวละ 21 บาท จึงอยากร่วมแชร์คุณภาพอาหารกลางวันเด็กประถมศึกษา หัวละ 40 บาท อยู่ในสังกัด กทม.เขตบางเขน แถมเจ้าหน้าที่ยังบอกว่า กิน ๆ ไปเหอะ
ตามคำบอกเล่าของเด็ก ๆ บอกว่า บางวันเป็นขนมจีนน้ำยาที่ไม่ตักลูกชิ้นให้เด็ก บางวันเป็นแกงส้มผักบุ้งสองวันติด บางวันแกงหน่อไม้ดองไม่มีเนื้อสัตว์ ซึ่งหากเด็กบางคนรับประทานไม่เป็นหรือทานไม่ได้ ก็ต้องอดอาหารมื้อกลางวันไป
จากที่สอบถามและที่เด็ก ๆ เล่าให้แม่ ๆ ฟัง ตอนนี้เด็กก็ไม่กล้ายกมือถือถ่ายรูปอาหารแล้วเพราะกลัวครูเห็น แถมยังระบุวันเวลาที่ภาพนี้ได้ถ่ายไว้อีกว่า ภาพผัดซีอิ๊ว ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ส่วนข้าวหมูน้ำแกง ถ่ายไว้วันที่ 21 มิ.ย. และยืนยันข้อมูลว่าเป็นข้อมูลจริง
นอกจากดรามาที่ จ.ประจวบฯ และ กรุงเทพมหานคร แล้ว ที่ขอนแก่น ก็มีดรามาเรื่องนี้เช่นกัน โดยเทศบาลนครขอนแก่น ได้วิงวอนให้ภาครัฐหันมาทบทวนเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับเด็ก ๆ หลังต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นทุกวัน แต่ต้องจัดสรรเมนูรายวันเพื่อให้เด็กอิ่ม และถูกหลักโภชนาการ ชี้ยังหากคงราคาเดิมที่หัวละ 21 บาท เทศบาลคงยื้อไปได้อีก 1 ปี เท่านั้น
ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากราคาสินค้าที่ทยอยกันขึ้นราคา ไม่ได้กระทบแค่ผู้ใหญ่ แต่เด็กนักเรียนก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
สำหรับ เรื่องของอาหารกลางวัน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ เงินอุดหนุนรายหัวตามโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเทศบาลฯ ได้รับเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาล สำหรับการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 11 ศูนย์ โดยเทศบาลฯ ตั้งงบประมาณ 21 บาทต่อคน ต่อวัน จำนวน 500 คน เป็นเงิน 2,572,500 บาท และนักเรียนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา 11 โรงเรียนในสังกัด เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ 21 บาทต่อคน ต่อวัน จำนวน 5,579 คน เป็นเงิน 23,431,800 บาท
แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ที่ส่งให้กับเทศบาลฯ เพียง 5,347 คน เป็นเงิน 22,457,400 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการนำเงินรายได้ตั้งงบประมาณสมทบ เพื่อให้สามารถที่จะบริหารจัดการงบประมาณให้กับเด็ก ๆ ในความรับผิดชอบตามโครงการอาหารกลางวันรวมแล้วประมาณ 6,100 คน ซึ่งในภาวะต้นทุนด้านวัตถุดิบที่แพงขึ้น เงินอุดหนุนหัวละ 21 บาท ที่ได้รับการจัดสรรมาจากสำนักงบประมาณ ในภาพรวมยังขาดอีกประมาณ 200 คน ซึ่งเทศบาลต้องใช้เงินรายได้เทศบาลเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับประทานอาหารภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ หากประเมินตามสถานการณ์แล้ว สถานการณ์ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวของก็จะแพงขึ้นตามเรื่อย ๆ และถ้ายังเป็นในระดับแบบนี้ คาดว่าเทศบาลคงแบกรับได้อีกไม่เกิน 1 ปี จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ทบทวนการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับเด็ก ๆ ด้วย
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35