สลากดิจิทัล สุดปัง! ประเดิมงวดแรก ขายหมดเกลี้ยง 5 ล้านใบ ภายใน 4 วันครึ่ง! ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร. ธนวรรธน์ ตัวแทนจากกองสลาก ที่จะมาคลายทุกข้อสงสัย ว่าสลากดิจิทัลเป็นมาอย่างไร และ วางแผนแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรบ้าง?
มาถึงช่วง “Tech Talk” ในรายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” พบกับ “รศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย” กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จะมาเคลียร์ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ “สลากดิจิทัล” โดย รศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวว่า ตลอดเวลาราว 6-7 ปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานได้รับเสียงบ่นมาโดยตลอดว่า เหตุใดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาได้ ทั้งที่ดูจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่แท้จริงแล้ว ปัญหานี้มีข้อจำกัดเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่มีการจำหน่ายสลากดิจิทัลเป็นวันแรก จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพียง 4 วันครึ่งเท่านั้น สลากฯ จำนวน 5 ล้านใบ ถูกจำหน่ายหมดทั้งระบบ ทำให้ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถซื้อง่าย ขายคล่อง และที่สำคัญคือ สามารถควบคุมราคาให้อยู่ที่ 80 บาทได้
สำหรับจำนวนสลากฯ ที่นำมาจำหน่ายเป็น “สลากดิจิทัล” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” นั้น ในตอนนี้คิดเป็น 5% ของจำนวนสลากฯ ทั้งหมด สาเหตุที่ไม่สามารถขายได้ 100% รศ.ดร. ธนวรรธน์ ชี้แจงว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของการจำหน่ายสลากฯ ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะถึง 100% แน่ ๆ กอปรกับความตั้งใจของสำนักงานสลากฯ ซึ่งก็ไม่ต้องการให้เป็น 100% เพราะ ประวัติศาสตร์ของสำนักงานสลากฯ เกือบ 80 ปีที่ผ่านมา มีผู้ค้าควบคู่ไปด้วยเสมอ และบางคนก็ใช้ชีวิตกับอาชีพนี้มาโดยตลอด ซึ่งก็มีความสุขกับอาชีพนี้ ได้เจอชาวบ้าน มีลูกค้าประจำ เป็นวิถีชาวบ้าน อีกทั้งก็ยังมีคนที่ไม่ถนัดกับการใช้สมาร์ทโฟน ดังนั้น ระบบใบจึงยังต้องมี
ในส่วนของสลากฯ ล็อตแรก จำนวน 5 ล้านใบ ที่นำมาจำหน่ายทางระบบดิจิทัล รศ.ดร. ธนวรรธน์ เปิดเผยถึงที่มาว่า ได้นำมาจากเจ้าของโควตาที่นำไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบผิดเงื่อนไข คือจำหน่ายเกินราคา ทางสำนักงานสลากฯ จึงทำการตัดโควตาทิ้งตลอดชีวิต แล้วดึงสลากจำนวน 5 ล้านใบมา พอดึงมาแล้ว ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้าปัจจุบันที่มีโควตาอยู่ในมือมาสมัครเพื่อจำหน่ายแบบดิจิทัล แต่ก็ไม่มีใครมา สำนักงานสลากฯ จึงแก้ปัญหาโดยการชักชวนให้ผู้ค้าในระบบ ที่ปกติต้องกดซื้อจองผ่านธนาคารกรุงไทย ซึ่งใช่ว่าจะได้สลากฯ ไปจำหน่ายในทุกงวดมาสมัคร โดยหากสมัครแล้ว ก็จะได้สลากฯ อย่างแน่นอนทุกงวด เป็นเวลา 1 ปี หรือ 24 งวด แต่ก็มีมาสมัครเพียง 3,000 คน จากที่เตรียมไว้ราว 10,000 ที่ สาเหตุคาดว่าอาจเป็นเพราะผู้ค้าไม่แน่ใจในผลตอบรับว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หรือกลัวขาดทุน เนื่องจากต้องขายในราคา 80 บาท
รศ.ดร. ธนวรรธน์ อธิบายต่อไปว่า ถึงแม้ว่าต้นทุนต่อสลากฯ 1 ใบ จะต่ำกว่า 80 บาทอยู่แล้ว แต่โดยธรรมชาติของผู้ค้าและการจำหน่ายสลากฯ เมื่อผู้ค้ารับสลากฯ มาจำหน่าย 1 เล่ม ซึ่งจะมีอยู่ 100 ใบ ในนั้นจะมีเลขตั้งแต่ 00-99 ผู้ค้าก็จะมองว่าไม่สามารถจำหน่ายได้ทั้ง 100 ใบ เพราะ เขามีความคิดว่าเลขท้าย 2 ตัวจากงวดที่แล้วไม่มีทางที่จะออกซ้ำ อีกทั้งเลขที่ซ้ำกัน เช่น 00 11 … 99 ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น สลากฯ 1 เล่ม จำนวน 100 ใบ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะจำหน่ายไม่ได้ไปแล้ว 11 ใบ เหลืออีก 89 ใบ ซึ่งถ้าจำหน่ายในราคา 80 บาท ได้หมดทั้ง 89 ใบนั้น ผู้ค้าจะได้เงินจำนวน 7,120 บาท แต่ต้นทุนที่รับมาคือ 7,040 บาท ก็จะทำให้ได้กำไรน้อย แต่จากผลตอบรับที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ค้าทั้งหมดได้รับเงินทันที 100% ภายใน 4 วันครึ่ง เพราะสลากฯ ถูกจำหน่ายได้หมดทั้งระบบ ไม่เหลือแม้แต่ใบเดียว
ถึงแม้จะช่วยแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากฯ เกินราคาได้ แต่การมาของสลากดิจิทัล ก็มีผู้ที่กังวลว่าจะทำให้ผู้ค้าที่เป็นคนพิการได้รับผลกระทบ ไม่สามารถจำหน่ายสลากฯ ได้ รศ.ดร. ธนวรรธน์ ชี้แจงว่า ในกฎหมายเกี่ยวข้องกับสำนักงานสลากฯ มีการระบุไว้ว่า การจะออกสลากฯ รูปแบบใดก็ตาม ขอให้คนพิการหรือคนด้อยโอกาสเข้าถึงโอกาสในการจำหน่ายสลากด้วย แต่ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะไม่สามารถส่งเสียงเพื่อรองรับการใช้กับผู้พิการทางสายตาได้ ซึ่งทางสำนักงานสลากฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้มีการพูดคุยกับผู้พัฒนาแอปฯ แล้วเพื่อแก้ไขปัญหานี้
และอีกประเด็นคือเรื่องของการล็อกเลข รศ.ดร. ธนวรรธน์ ชี้แจงว่า การออกรางวัลสลากฯ ในแต่ละครั้ง จะมีการตรวจอุปกรณ์ในการออกรางวัลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดล้วนเป็นพลาสติก ไม่มีโลหะผสม ไม่มีแม่เหล็ก สายไฟ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ วิธีใช้ก็ใช้โดยคนหมุน และมีการสุ่ม มีการคละเลขซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นจึงไม่สามารถล็อกได้แน่ ๆ แต่ รศ.ดร. ธนวรรธน์ ก็กล่าวติดตลกเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถจัดการได้เลยคือ การเข้าไปควบคุมดูแลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไปกำหนดเลข ซึ่งตนก็ไม่ทราบจริง ๆ ว่าทำไมผลที่ออกมาถึงตรงตามเลขเด็ดที่คนเก็งกันแทบทุกครั้งไป
ทั้งนี้ การมาของสลากดิจิทัล ก็อาจทำให้มีผู้กังวลว่าจะเป็นการส่งเสริมการพนันหรือมอมเมาประชาชน เพราะทำให้เข้าถึงการเสี่ยงโชคได้ง่ายขึ้น รศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวว่า ในตอนนี้ การพนันหลายชนิดสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว รวมไปถึงหวยใต้ดินที่ก็มีคนเล่นอย่างดาษดื่น ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศล้วนต้องจัดการสินค้าที่เป็นอบายมุขทั้งสิ้น เพื่อให้อยู่ในประมาณที่เหมาะสม ควบคุมได้ และเพื่อนำเงินเข้ามารณรงค์ต่อต้านอบายมุข เช่นเดียวกันกับกรณีของสุราและบุหรี่ ที่มีภาษีบาป เพื่อนำเงินกลับมารณรงค์ให้คนเลิก ซึ่งทางสำนักงานสลากฯ ก็มีหน้าที่ส่งเสริมการต่อต้านการพนันทุกรูปแบบด้วยเช่นกัน
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/SS2j2_Udr2I
+ อ่านเพิ่มเติม