depa เปิดโครงการ "The Smart City Ambassadors" เฟ้นหานักพัฒนาบ้านเกิด เป็นเมืองอัจฉริยะให้น่าอยู่ รับสมัครถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ด้าน สตาร์ตอัปจากตูนิเซีย สร้างเครื่องมือเปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่ม หวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในแถบอาหรับ
แนะนำโครงการ "The Smart City Ambassadors" พัฒนาบ้านเกิดเป็นเมืองอัจฉริยะให้น่าอยู่
แนะนำอาชีพใหม่ งานดี ๆ ที่จะได้กลับไปทำงานที่เมืองเกิด แถมเงินเดือนเริ่มต้น 17,000 บาทตลอดหนึ่งปีเต็ม!
โครงการ The Smart City Ambassadors คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมือง พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ตอบสนองความต้องการของประชาชน ยกระดับเมืองตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชน
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองอัจฉริยะแล้ว 15 พื้นที่ และเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จำนวน 58 เขต กระจายตัวอยู่ใน 32 จังหวัดทั่วประเทศ
โดยผู้เข้าร่วมในโครงการ The Smart City Ambassadors จะได้รับความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในทุกมิติผ่านการอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ผ่านการจ้างงานโดยรัฐและเอกชน
ขณะนี้ โครงการ The Smart City Ambassadors ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 กำลังเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ ที่มีใจอยากพัฒนาภูมิลำเนาของตนเองเพิ่มอีก และขยายเวลารับสมัครไปจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพิ่มโอกาสเตรียมความพร้อมก่อนปิดรับสมัคร สำหรับ "เมือง" หรือ "คน" ที่สนใจอยากสมัคร หรือสมัครไปแล้วแต่ยังมีคำถามหรือข้อสงสัย เราเปิดให้ซักถามได้เลย ไขทุกข้อสงสัยไปกับกิจกรรม "Smart City Ambassador Roadshow" ในรูปแบบออนไลน์ เปิดถึง 3 รอบ สะดวกรอบไหน เลือกได้เลย!
วิทยาการสุดล้ำ! "เครื่องผลิตน้ำดื่มจากอากาศ" ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ
Iheb Triki (อิเฮบ ตรีกิ) ผู้ร่วมก่อตั้งของบริษัทสตาร์ตอัปจากประเทศตูนิเซีย ได้สร้างเครื่องมือเปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่มได้ มีชื่อว่า Kumulus (คูมูลัส) เพื่อหวังที่จะหาทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในแถบอาหรับ
โดยเครื่อง Kumulus มีเป้าหมายเพื่อผลิตน้ำดื่มจากพลังงานแสงอาทิตย์และอากาศ แนวคิดคือการจำลองปรากฏการณ์น้ำค้างยามเช้า ซึ่งตัวเครื่องจะดักจับอากาศเข้ามา จากนั้นจะผ่านตัวกรองอากาศชั้นแรกก่อน เพื่อเอามลพิษออก แล้วค่อยปล่อยกลับเข้าไปในเครื่อง เพื่อทำให้น้ำเย็นลงและสามารถดื่มได้
แรงบันดาลใจของการสร้างเครื่องนี้มาจากการที่เขาพบโรงเรียนแห่งหนึ่งในตูนิเซีย ต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มอย่างหนัก ซึ่งตอนนี้เครื่อง Kumulus ได้ถูกนำไปติดตั้งที่โรงเรียนแห่งนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงรอการอนุมัติจากรัฐบาลก่อนที่จะเริ่มใช้งาน
Iheb Triki เผยว่า "เรามีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างมาก ซึ่งในอาหรับ 12 จาก 17 ประเทศยังคงขาดแคลนน้ำมากที่สุดในโลก การขาดแคลนน้ำและการสูญเสียน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเครื่องนี้สามารถแก้ปัญหาตรงนั้นได้และหวังว่าจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ขาดแคลนน้ำ เช่นในประเทศโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และซาอุดีอาระเบีย"
จากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ชาวตูนิเซียกว่า 21% ชาวโมร็อกโก 20% และชาวอัลจีเรียอีก 28 % ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้มาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว และการสร้างเครื่อง Kumulus ขึ้นมา จะสามารถผลิตน้ำดื่มได้ระหว่าง 20 ถึง 30 ลิตรต่อวัน
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35
VIDEO