Grab เริ่มขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจ การทำแผนที่ “ดิจิทัล” แข่งขันกับ Google Maps โดยอ้างอิงจากข้อมูลของผู้ใช้ และคนขับที่พันธมิตรกับ Grab ด้านไก่บ้านที่เลี้ยงกันมาหลายชั่วอายุนั้นเกิดความน่าสนใจอีกครั้ง เมื่อมีงานวิจัยที่น่าสนใจเผยว่า “ประเทศไทยคือจุดกำเนิดของไก่บ้าน”
ศึกชิงบัลลังก์! Grab กำลังจะขึ้นแท่นมาแข่งกับ Google ในการทำ “แผนที่ดิจิทัล”
Grab (แกร็บ) บริษัทสตาร์ตอัปจากสิงคโปร์ที่ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารและรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่ได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มขายข้อมูลการทำแผนที่ให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจการทำแผนที่ดิจิทัลแข่งกับ Google (กูเกิล) ที่ทำ Google Maps ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ตอนนี้
อีกทั้ง Grab ประกาศว่า จะอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยี, ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และโทรคมนาคม เข้าถึงข้อมูลการทำแผนที่ที่ Grab เก็บรวบรวมได้จากคนขับรถส่งอาหารหรือการรับ-ส่งผู้โดยสาร และผู้ใช้แพลตฟอร์มของ Grab ได้
โดยมองว่าธุรกิจให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลของ Grab ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 34,500 ล้านบาท ภายในปี 2025 ส่วนค่าบริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลของ Grab ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมา
ปัจจุบัน บริษัทที่ครองตลาดการทำแผนที่ดิจิทัลรายใหญ่ของตลาดนั้นมีทั้ง Google และบริษัทจากเนเธอร์แลนด์อย่าง TomTom (ทอม ทอม) ที่มีฐานข้อมูลแผนที่และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ทั่วโลกอยู่แล้ว แต่แกร็บมั่นในว่าตนมีข้อได้เปรียบเรื่องการเก็บข้อมูลแผนที่จาก 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การทำแผนที่ของ Grab อ้างอิงข้อมูลแบบเรียลไทม์จากคนขับที่เป็นพันธมิตรกับ Grab รวมถึงภาพที่เก็บจากกล้องที่ติดอยู่บนหมวกกันน็อกของผู้ขับขี่ ซึ่งจะเก็บข้อมูลบนท้องถนนอย่างละเอียด ประกอบกับการปักหมุดตำแหน่งของผู้ใช้ที่อัปเดตได้แบบเรียลไทม์โดยอ้างอิงจากข้อมูลของผู้ใช้เอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลที่มีความแม่นยำ
โดย Grab เริ่มเก็บข้อมูลการทำแผนที่มาตั้งแต่ปี 2017 และได้เก็บข้อมูลแผนที่ได้มากถึง 33 ล้านจุดแล้วในตอนนี้
ความลับไก่บ้าน! ผลวิจัยชี้ “ไก่บ้าน” มีจุดกำเนิดที่โคราช อายุเก่าแก่กว่า 3,500 ปีก่อน
โดยย้อนกลับไปราว ๆ ปี 1650 – 1250 ปีก่อนคริสตศักราช ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นจุดเริ่มต้นที่มนุษย์นำเอาไก่ป่า มาเลี้ยง ความสัมพันธ์ระหว่างไก่ยุคแรกกับการปลูกข้าวและลูกเดือย แสดงให้เห็นว่าการผลิตและการเพาะปลูกเหล่านี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเลี้ยงไก่
มาจากงานวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา โดยนักโบราณคดีด้านสัตว์ Joris Peters (โจริส ปีเตอร์ส) ค้นพบว่าจุดเริ่มต้นของไก่บ้านนั้นพึ่งจะเกิดขึ้นไม่นานนี้
การรวมข้อมูลสัตววิทยา สัณฐานวิทยา กระดูก และอื่น ๆ แล้ว นักวิจัยก็ได้ใช้ข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไก่จากหลาย ๆ แหล่ง รวมถึงหลักฐานการดำรงชีพของผู้คนในสังคมของจุดสำรวจแต่ละแห่ง มาพัฒนาเป็นแนวทางการเพาะเลี้ยงไก่บ้าน
และยังมีกระดูกไก่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นแรก ซึ่งถูกพบที่ บ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอายุระหว่าง 1,650 ถึง 1,250 ปีก่อนคริสตศักราช ตรงกับยุคหินใหม่ หรือประมาณ 3,500 ปีก่อน
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า ไก่บ้าน และ การทำนาข้าวได้แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา แต่คนในยุคนั้นอาจจะไม่เลี้ยงพวกมันไว้เพื่อบริโภค โดยมองว่ามันเป็นสัตว์พิเศษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลักฐานที่พบกระดูกไก่วางอยู่ในหลุมฝังศพของแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด และถิ่นฐานโบราณอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานวิจัยล่าสุดที่ได้เผยแพร่เรื่องราวจุดกำเนิดของไก่บ้าน โดยใช้ความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงสัตว์และการทำเกษตรเพาะปลูก และหลักฐานต่าง ๆ ทั้งข้อมูลสัตววิทยา สัณฐานวิทยา กระดูก ซึ่งในอนาคตอาจมีการค้นพบข้อมูลที่ลึกและทฤษฎีใหม่ ๆ ได้อีกเรื่อย ๆ เพราะการศึกษาวิจัยเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35