คุยกับ “ครูนกเล็ก” ครูประถม ที่อัดคลิปสื่อการเรียนการสอน รูปแบบที่เด็ก ๆ ชื่นชอบลงใน YouTube จนมีผู้ติดตามมากกว่า 9 ล้านซับ
ช่วง Tech Talk ในรายการ "แบไต๋ 7 HD ไอทีและยานยนต์" วันนี้ (14 มิ.ย. 65) พบกับ จีรภัทร์ สุกางโฮง หรือ ครูนกเล็ก เล่าว่า ปัจจุบันสอนอยู่ที่โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) จุดเริ่มต้นของการสอนในคลิปออนไลน์ต่าง ๆ เริ่มเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว โดยตอนนั้นยังไม่มี Youtube และย้ายมาสอนที่โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) พอดี แล้วต้องผลิตสื่อการสอน เพื่อมาสอนเด็ก ซึ่งตอนนั้นต้องไปสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็กลัวเด็กจะเบื่อ เลยทำคลิปละครสั้นเรื่องแรงเสียดทาน นั่นคือคลิปแรกที่เริ่มขึ้นมา แต่ยังไม่ได้ปังตั้งแต่คลิปแรก สมัยนั้นทำคลิปใส่ซีดี ยังไม่ได้ลงออนไลน์
มาเริ่มออนไลน์จากคลิปที่โพสต์เก็บไว้ เป็นคลิปที่ไปช่วยครูทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโฆษณาขายสารส้ม ทำเลียนแบบละครที่ดังตอนนั้น และใช้นักแสดงเป็นเด็ก ป.6 โพสต์อยู่ประมาณ 7-8 เดือนก็เริ่มมีคนเข้ามาแชร์ และแสดงความคิดเห็น
วิธีคิดในการสร้างสรรค์ของตนคือ ดูให้เยอะ แล้วก็ฟังให้เยอะ อีกอย่างก็คือ สังเกตุว่าเด็กเขาชอบอะไร เราก็ทำตามที่เขาชอบ ขึ้นอยู่กับวัยของแต่ละคน
เด็กที่ร่วมแสดงกับครูเขาภูมิใจ บุคลิกและทัศนคติของเขาเปลี่ยน เขาจะมีความมั่นใจมากขึ้น ระบบการคิดของเขาจะมีลำดับขั้นตอนมากขึ้น เพราะเวลาครูนกเล็กให้เด็ก ๆ มาถ่ายด้วย ก็จะฝึกงานทำงานของเขาไปในตัว
ส่วนวิธีแก้ปัญหาเวลาไอเดียตัน ตนก็จะเอาตัวเองออกจากตรงนั้นก่อน และออกไปหาแรงบรรดาลใจ อย่างตนก็มีไปคุยกับเด็ก ๆ บ้าง แล้วเดี๋ยวไอเดียมันก็จะมาเอง ต่อให้อยู่ตรงนั้นคิดไปยังไงมันก็คิดไม่ออก
ขณะที่เรื่องกีฬา E-sport ที่กำลังเป็นที่นิยมของเด็ก ๆ เราก็คงไม่ไปต่อต้านเด็ก แต่ก็ต้องดูให้แน่ใจว่าเด็กเขาจริงจังไหม เขาเข้าใจจริง ใช้เป็นจริงหรือเปล่า
ที่ตนทำแบบนี้ ก็มีเสียงวิจารณ์จากครูคนอื่น โดยช่วงแรก ๆ ก็จะคิดกันว่า เราทำไปทำไม แต่พอผ่านระยะเวลาไปเรื่อย ๆ พอเขารู้ว่า เทคโนโลยี ระบบต่างๆมันจะมากขึ้น เขาก็จะมาทำความเข้าใจกับเรา
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสได้ปฏิรูปการศึกษา อยากปฏิรูปทัศนคติของครูผู้สอนก่อนเลยเป็นอันดับแรก อีกอย่างคือเรื่องการเข้าถึงของเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้โรงเรียนที่ครูนกเล็กสอนอยู่ก็ผลักดันให้คุณครูนำเทคโนโลยีไปใช้สอน แต่ในห้องเรียนจริง ๆ มันไม่มีสื่อ ทีวีเครื่องหนึ่งยังไม่มีเลย ทุกอย่างครูนกเล็กนำมาเองหมดเลย
ทั้งนี้ ในมุมมองของตน การศึกษาไทย มันต้องปรับทั้งระบบ ปรับคนเดียวมันเหนื่อย และยากที่จะเห็นผลลัพธ์ ควรปรับทั้งองค์กร จากบนสู่ล่าง ส่วนการที่จะผลิตสื่อให้ดี เข้ากับโรงเรียน ก็ควรจะดูเนื้อหา และนำมาปรับเข้ากับบริบทของโรงเรียนนั้น ๆ
+ อ่านเพิ่มเติม