เป็นข้อสงสัยของสังคม และถูกวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าคืออะไร จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร และควรปรับตัวยังไงบ้าง
มาถึงช่วง “Tech Talk” ในรายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” กับกูรูด้านวงการไอที ที่วันนี้ได้รับเกียรติจาก “อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” นักวิชาการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือ Personal Data Protection Act ซึ่งมีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าเราทำอะไรได้บ้าง ข้อควรระวัง รวมทั้งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA
อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ เล่าว่า แนวคิดที่ทำให้เกิดการร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มาจาก ปัญหาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือประกันต่าง ๆ โทรเข้ามาขายของกับเรา หรือแม้แต่การตัดต่อภาพของเราลงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเวลาไปขอให้เขาลบ แก้ไข กลับไม่ทำ และเราก็ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายกับเขาได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เรามีสิทธิให้เขาลบ หรือดำเนินการได้ ถ้าเขาไม่ลบหรือแก้ไข ให้เราแจ้งไปที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากยังไม่ลบอีก ก็จะมีการปรับ 1 ล้านบาท 3 ล้านบาท หรือ 5 ล้านบาท ตามแต่ความผิด
ขณะเดียวกัน กฎหมายตัวนี้จะช่วยคุ้มครองสิทธิเรามากขึ้น แต่ภาระจะไปตกอยู่กับองค์กร หน่วยงานรัฐ เอกชน ที่เอาข้อมูลของเราไป โดยหน่วยงานเหล่านี้ต้องมีมาตรการในการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ถ้าเกิดรั่วไหล ต้องรีบดำเนินการแก้ไข หากไม่ดำเนินการ ประชาชนทุกคนมีสิทธิทางแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหาย และสามารถแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาได้ ส่วนเรื่องการลงโทษจะมีการอะลุ่มอะล่วยก่อนในช่วง 1 ปีแรก ให้เป็นช่วงของการปรับตัวก่อน แต่ต้องดูตามพฤติกรรม ถ้าหากมีพฤติกรรมโรคจิตมากก็อาจจะมีการลงโทษ
ส่วนเรื่องการถ่ายรูป หรือเซลฟีติดคนอื่นนั้น ไม่ผิดกฎ PDPA เพราะถ้าเป็นเรื่องที่เราใช้สิทธิส่วนบุคคล หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เราไม่ผิด โดยมีการละเว้นใน มาตรา 4(1) ขณะที่ประเด็นที่ตอนขับรถ เราติดกล้อง แล้วจับภาพได้นั้น ก็ไม่ผิดเช่นกัน เราสามารถถ่ายได้เหมือนเดิม โดยไม่ต้องระบุว่าเราติดกล้องที่รถ หรือแม้กระทั่งการติดกล้องวงจรปิดที่บ้านเราก็ไม่จำเป็นต้องระบุว่าตรงไหนมีกล้อง เราใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมปกติ แต่ถ้าเป็นกล้องในที่สาธารณะ หรือบริษัทต่าง ๆ ต้องติดป้ายกำกับไว้ ทั้งนี้หากมีการนำภาพที่เก็บไว้ไปแสวงหากำไร หรือทำให้เจ้าตัวเสียหาย ก็จะมีความผิด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน
สำหรับประเด็นที่เราถ่ายภาพลูกค้า เพื่อรีวิวสินค้า ในธุรกิจของเรา เราต้องขออนุญาตตัวลูกค้าก่อน ส่วนด้านลูกค้าถ้าไปพบเห็นรูปตัวเอง แล้วเกิดไม่พอใจก็สามารถร้องเรียนทางร้านให้เอาออกได้ แต่ถ้าเกิดเขายังไม่เอาลง ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านสื่อมวลชนนั้น การถ่ายภาพต่าง ๆ ยังคงทำงานได้เหมือนเดิม เพราะได้รับการยกเว้นเช่นกัน ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อประมวลจริยธรรม ที่ร่างโดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ สมาคมวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งข้อยกเว้นของสื่อแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
1. สื่อที่มีสังกัด มีการจดทะเบียน ที่มีกระบวนการในการกรองแบบมืออาชีพ ว่าอะไรควรไม่ควร ถ้าเป็นแบบนี้ กฎหมายบอกว่าให้ยกเว้นทั้งฉบับเลย
2. สื่อแบบใหม่ เช่น YouTuber หรือตัวเราเองเข้าไปเที่ยว แล้วถ่ายภาพออกมา ข้อนี้เราไม่ใช่สื่อ เราเป็นประชาชนทั่วไป เพราะเราไม่มีประมวลจริยธรรมเลย ข้อนี้กฎหมายจะไม่ยกเว้นทั้งฉบับให้เรา ส่วนข้อยกเว้นของประเภทนี้คือ ถ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ถ้าเราเจอคนกระทำผิด ก็ถ่ายไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเบลอหน้าคนผิด แต่ถ้าถ่ายแล้วนำไปประจาน ข้อนี้ก็จะมีความผิด
อย่างไรก็ตาม หากทำผิด แล้วมีการปรับ เงินส่วนนี้จะถูกนำไปเข้ารัฐบาล บางคนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าเงินค่าปรับจะเข้าตัวเอง แล้วไปร้องเรียนมั่ว ๆ หากร้องแบบไร้สาระมันจะผิดกฎหมาย เท่ากับว่าแจ้งความเท็จ ส่วนเรื่องการปรับนั้นเป็นมาตรการสุดท้ายที่คณะกรรมการจะใช้ และจะใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ใช้กับประชาชนแน่นอน ส่วนค่าเสียหาย ต้องไปฟ้องแพ่งเอา