ต่อเนื่องจากเหตุการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดย "นายศรีสุวรรณ จรรยา" ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบป้ายหาเสียงของ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จนนำไปสู่ข้อพิพาทในสังคมว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นการลดความเจริญก้าวหน้า และสร้างความแตกแยกของสังคมไทยหรือไม่
วันที่ 31 พ.ค. 2565 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาเล่าผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ใจความว่า ตนเห็นแคมเปญชวนให้ประชาชนลงชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ผ่าน change.org แล้ว โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่จะสามารถปลดตนได้มีแต่กรรมการของสมาคมฯ และสมาชิกสมาคมฯ ส่วนคนเป็นหมื่นเป็นแสนจะเอาอะไรมาปลดตนได้ตามหลักกฎหมาย เพราะสมาคมฯ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้การร้องเรียน การตรวจสอบต่างๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนควรกระทำอยู่ กฎหมายเองก็ให้การรับรอง ตนแค่ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง โดยตนมองว่าถ้าไม่มีการตรวจสอบอันนั้นคือไม่ปกติในสังคม จะมองได้ว่าเป็นเผด็จการ การจะเข้ามาเป็นนักการเมืองต้องยอมรับการตรวจสอบ ซึ่งถ้าหากนักการเมืองคนนั้นตรวจสอบผ่านก็จะสง่างาม ส่วนกรณีได้รับใบสั่งนั้น คุณศรีสุวรรณ ตอบว่า ตนไม่มีเรื่องนี้ ตนร้องเรียนนักการเมืองทุกพรรคมาโดยตลอด ล่าสุดตนก็ร้องเรียนเรื่องป้ายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สวัสดีปีใหม่ตอนสงกรานต์ แต่พอร้องเรียนคุณชัชชาติ มันไปกระทบกับแฟนคลับ จน "โวยวายดิ้นเกลือกเป็นไส้เดือนกิ้งกือ"
ขณะที่เรื่องโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้น ไม่ได้มีใครเดือดร้อน มันจึงไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท หากใครเดือดร้อนก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้เลย ซึ่งประเด็นที่โพสต์นี้ต้องกาจะสื่อกับสังคมว่าอย่ารีบร้อน กกต. เขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป กฎหมายให้ระยะเวลาในการรับรองถึง 30 วัน อันนี้แค่ผ่านไปเพียง 8-9 วันก็ออกมาชักดิ้นชักงอกัน อยากให้รีบรับรอง
"ผมไม่สะทกสะท้านอะไรหรอกครับ ผมทำเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด" คุณ ศรีสุวรรณ กล่าว
สำหรับเรื่องป้ายหาเสียงของคุณชัชชาติ ตนมองว่ามีปัญหา ซึ่งป้ายหาเสียงอันนี้มีการทำรูปแบบให้สามารนำไปรีไซเคิลได้ มันไม่เคยมีเรื่องแบบนี้มาก่อน และกฎหมายก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจน จึงเกิดเป็นข้อสงสัยของตน จึงนำความไปร้องต่อ กกต. ว่าทำอย่างนี้มันจงใจเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ ตามม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 หรือเปล่า ส่วนเรื่องป้ายหาเสียงที่ไม่เก็บภายใน 3 วัน อันนี้มันผิดกฎหมาย พ.ร.บ. ความสะอาดอยู่แล้ว ซึ่งตนก็ไม่ได้ร้องแค่คุณ ชัชชาติ คนเดียว ใครมีป้ายอยู่บนถนนเกิน 3 วัน ตนร้องเรียนหมด โดยการร้องเรียน กกต. เพื่อพิสูจน์ว่า การทำป้ายหาเสียงแบบนี้ มันผิดไหม ถ้ามันผิดจะได้มีระเบียบออกมาให้ชัดเจน แต่ถ้ามันไม่ผิดนักการเมืองในอนาคตจะได้นำไปทำกันต่อไป มันเป็นประโยชน์ต่อ กกต. ด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้ยังมีเตรียมการจะตรวจสอบโครงการ 214 โครงการ ของคุณชัชชาติ เราจะมานั่งดูว่าเขาจะทำจริงตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ เราไม่ได้ทำเพื่อจับผิด แต่เนื่องจากว่านโยบายของเขาเยอะ เราแค่จะเข้าไปเตือนไม่ให้เขาลืม หรือบางเรื่องที่เป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน เราก็จะเข้าไปทวงถาม ทั้งเรื่อง การต่ออายุสัญญา BTS หรือเรื่องโรงไฟฟ้าขยะที่หนองแขม
ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา ม.รังสิต เผยว่า ประเด็นที่คุณ ศรีสุววรณ ร้องเรียนมานั้น ยังไม่ปัดตก เพียงแต่ทาง กกต. ได้พิจารณาเบื้องต้นแล้ว จึงประกาศรับรองให้ คุณชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. หากหลังจากการประกาศผล พบหลักฐานว่าผู้ใดกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็จะสามารถนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาให้ใบเหลืองหรือแดงได้ แต่การให้ใบเหลือง หรือใบแดงหลังประกาศผลนั้น อำนาจจะไม่ได้อยู่ที่ กกต. แล้ว หากในกรณีนี้จะต้องไปศาลอุทรณ์ และมาดูกันว่าศาลจะว่ายังไง โดยสามารถดำเนินการได้ตลอดไม่มีอายุความ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ กทม. แต่ตัวผู้สมัครฯ ก็สามารถโดนร้องเรียนด้วย
ทั้งนี้การที่ไม่มีอายุความนั้น ทำเพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็อาจจะทำให้เกิดผลลบได้ เพราะไม่สามารถรู้ว่าเรื่องมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ บางทีพ้นไป 2-3 ปี ค่อยมามีเรื่องกัน ส่วนในมุมของ กกต. ก็จะมีผล เพราะไม่มีอะไรมาเร่งรัด เขาก็จะทำงานไปเรื่อยๆเฉื่อยๆได้ ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นในตอนนี้่ยังมีอีกหลายเรื่องผ่านเป็นปีแล้วยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาของ กกต. ไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการมาเร่งรัด
จริงๆแล้วตนแอบชมคุณศรีสุวรรณ เพราะการร้องเรียนเป็นสิทธิ์ของประชาชน แต่ทาง กกต. ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าเรื่องราวดังกล่าวมันมีน้ำหนักเพียงพอทำให้เกิดการเทคะแนนเสียงหรือเปล่า และต้องนิ่ง อย่าไปสนใจกระแสกดดันของสังคม วางตัวเป็นกลาง และต้องตอบคำถามสังคมให้ชัดเจน
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากข้อกฎหมาย โดยที่คุณศรีสุวรรณยกมาคือ ม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ถ้าเกิดมีการกระทำใดทำให้เกิดการจูงใจ เกิดการสัญญาว่าจะให้หรือเปล่า ซึ่งป้ายหาเสียงเนี่ยมันเป็นของที่สามารถให้กันได้ และคำนวนเป็นเงินได้ อีกข้อเท็จจริง มีการสัญญาว่าจะให้ไหม ซึ่งถ้ามีผู้สมัครฯ รายหนึ่งบอกกับนาย ก. ผ่าน เฟซบุ๊ก ว่ามันใช้ยังไง ตัดรอยประต่างๆยังไง โดยเฟซบุ๊กนั้นประชาชนสามารถเข้ามาอ่านได้ ก็ต้องมาพิจารณาว่ามันเข้าข่ายไหม
จากกรณีที่ กกต. รับรองผู้ว่าฯ กทม. นั้น กกต.พิจารณาว่าการดำเนินการผ่านมาของบรรดาผู้สมัครฯ หลักฐานต่างๆมันไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาเพียงพอที่จะไม่รับรอง ซึ่งการร้องเรียนในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องอื่นก็ได้
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง
hitz955.com