จำเลยสังคม !? รวมคำถามคาใจ ปมคดีแตงโม GPS แก้ไขได้?-ไม่ตรวจสารเสพติด?-ใช้ใบพัดของจริงจำลองกับศพ? เชี่ยวชาญเรือ-ตำรวจ-นิติเวช ร่วมเคลียร์ทุกข้อสงสัย ที่นี่ที่เดียว!
วันที่ 12 พ.ค. 65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาตอบคำถามที่สังคมคาใจในขอคดีของดาราสาว "แตงโม นิดา" ผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7 HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ
ในประเด็นแรก กรณีที่ผู้ต้องหาบนเรือปฏิเสธการตรวจสารเสพติด พล.ต.ต.ยิ่งยศ ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจผู้ต้องหาได้หากเป็นประโยชน์กับคดี แต่ผู้ต้องหาคนนั้นต้องให้ความยินยอม ดังนั้น ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้ แต่ต้องลงบันทึกไว้เป็นข้อสังเกต และเป็นหลักฐานในสำนวน แต่ก็จะไม่เป็นคุณกับตัวผู้ต้องหาเอง กรณีที่มีพยานแวดล้อมหรือหลักฐานอื่น ๆ บ่งชี้ว่าผู้ต้องหาเกี่ยวข้องขึ้นมา โดยในเหตุการณ์นี้ ผู้ต้องหายินยอมให้ตรวจสารเสพติด 4 คน จากทั้งหมด 5 คน และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่ให้ตรวจ และตำรวจก็ไม่มีสิทธิ์จะไปบังคับได้
ในส่วนของการตรวจพบสารอัลปราโซแลมที่ ปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หนึ่งในผู้ต้องหาเป็นออกมาพูดเอง ทางตำรวจทราบอยู่แล้ว และมีอยู่ในสำนวนคดีแล้ว แต่ที่ไม่ได้ออกมาพูดทั้งหมดเพราะสำนวนมีความยาวกว่า 2,499 หน้า และเรื่องพวกนี้เอาไว้พูดกันในกระบวนการอัยการหรือในศาล ไม่ได้เอามาแฉกันในสังคมกันในสังคม
ประเด็นต่อมา คือ เพียงเห็นแค่เงา ตำรวจก็ทราบเลยใช่หรือไม่ว่าเป็นแตงโม หรือมีหลักฐานเพิ่มเติม พล.ต.ต.ยิ่งยศ ชี้แจงว่า ถ้าดูเพียงเงาก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีใครอยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้อาศัยพยานแวดล้อมอื่น ๆ มาประกอบด้วย ทั้งพยานวัตถุ พยานบุคคล พยานทางเทคโนโลยี ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ ตลอดจนการชันสูตร แล้วพนักงานสอบสวนกับฝ่ายสืบสวน ก็จะมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าใครอยู่ตรงไหน หรือเกิดอะไรขึ้น จากนั้น อัยการก็จะมาตรวจสอบอีกครั้งว่าที่วิเคราะห์มา อะไรที่เป็นไปได้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ อะไรควรเติมเต็มเพื่อยืนยันความเป็นไปได้
ซึ่งก็จะสืบเนื่องมาที่ประเด็น การที่อัยการสั่งสอบเพิ่มกว่า 20 ประเด็น แสดงว่าตำรวจยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีหรือไม่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ ชี้แจงว่า เป็นเรื่องปกติของการทำงาน เพราะอัยการเป็นเหมือนคนที่มาเติมเต็ม มาอุดช่องว่าง ให้สำนวนคดีสิ้นข้อสงสัย เหมือนเป็นครูที่ตรวจการบ้านนักเรียน และตนได้ทราบมาว่ามีอัยการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดนนทบุรีลงมาดูแลด้วยตัวเองด้วย ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เหมือนกับมีครูใหญ่มาดูเอง ซึ่งก็เป็นไปเพื่อให้สำนวนรัดกุมขึ้น
และสำหรับประเด็น อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พล.ต.ต.ยิ่งยศ มีความเห็นว่าก็เป็นการทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดี และทุกคนก็มีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าเอาข้อมูลที่บิดเบือน หรือทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย ก็ต้องตั้งคำถามว่าเราจะปล่อยไปได้หรือ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้จบที่ตำรวจ แต่ยังมีอัยการ มีศาล มีการซักค้าน มีระบบกลั่นกรอง ตรวจสอบ พล.ต.ต.ยิ่งยศ ยังเสริมอีกว่า ทางตำรวจมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับอัจฉริยะ เพราะอันที่จริง คลิปที่ทางตำรวจมี บางส่วนก็มาจากพลเมืองดีที่ส่งเข้ามาให้ด้วย ไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่ตอนนี้จบขั้นตอนของกระบวนการสอบสวนแล้ว ย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว
ด้าน กิตติภัฎ ธนาสนธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือ ที่มีคนตั้งคำถามถึงความสามารถ ได้ออกมายืนยันว่า ตนมีบริษัท GARMIN แต่งตั้ง ซึ่งตำรวจขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือ มีใบเซอร์ และเป็นวิทยากรของ GARMIN และเครื่องยนต์ Mercury ซึ่งเครื่องยนต์ดังกล่าวก็อยู่ในเรือ Cobalt ด้วย และยังมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรือ Cobalt เพราะอยู่ในวงการเรือมานาน ทำให้รู้รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับเรือ จากภาพเรือที่คุณอัจฉริยะอ้างว่าติดต่อขอคลิปที่ใช้ในการแถลงมาจากผู้เชี่ยวชาญเรือในเมืองนอก ตนอยากทราบว่าผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวคือใคร ตามมารยาทแล้วจะต้องส่งข้อมูลผ่านดิลเลอร์ในเมืองไทย จะไม่ขายข้อมูลเองโดยตรง ตนทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 รู้จักผู้ที่อยู่ในวงการเรือหลายคน ก็ไม่มีใครบอกว่ามีการขอคลิปนั้นมาจากต่างประเทศเลยแม้แต่คนเดียว
ประเด็นต่อมาที่มีผู้ตั้งคำถามว่า ตนเป็นผู้ทำใบพัดเรือตกลงไปในแม่น้ำจริงหรือไม่นั้น ได้ชี้แจงว่า เด็กที่ NBC ช่วยกันทำ จึงตกลงไปในแม่น้ำ ส่วนตนเป็นผู้ขับเรือเท่านั้น แต่ช่วยนำมาต่อกลับให้ใหม่ เพราะเป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับใบพัดว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้าง
ส่วนเรื่องที่ อัจฉริยะ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลใน GPS ซึ่งพล็อตสัญญาณได้หายไปพันกว่าตำแหน่งนั้น กิตติภัฎ ตอบว่า หากเรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางหรือความเร็ว เป็นการเคลื่อนไหวแบบซ้ำ ๆ ระบบจะไม่บันทึกข้อมูล ดังนั้นการแก้ไข GPS ตนตอบเลยว่าแก้ไม่ได้ ตนเป็นเพียงคนกลางผู้ทำหลักฐานมาส่งให้ ไม่ได้แก้ไขแน่นอน และบนเรือจะมีกล่องเมมโมรีของ GPS อยู่ ขอท้าให้ไปเปิดเทียบกันที่เรือต่อหน้าสื่อได้ หากอัยการหรือผู้พิพากษาอนุญาต ดั้งนั้น ขอยืนยันว่าในกระดาษนั้นตนไม่ได้แก้ และหากตำรวจได้ดำเนินการแก้ ตนก็จะฟ้องตำรวจ และหาก อัจฉริยะ เป็นคนแก้ ตนก็จะฟ้องอัจฉริยะเช่นกัน
กิตติภัฎ ยังฝากเพิ่มเติมถึงอัจฉริยะว่า ตนไม่ได้มีอะไรกับ อัจฉริยะ หรือทีมงาน ต่างคนต่างก็หาข้อมูลกันไป แต่การที่อัจฉริยะออกมาพูดนั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลายฝ่าย จึงอยากให้อัจฉริยะโทรมาถามก็ได้ ซึ่งก็พร้อมให้ข้อมูลช่วยเหลือ กิตติภัฎ ยังยืนยันอีกว่าตนไม่ได้เข้าข้างตำรวจ และไม่ได้เข้าข้างใคร และกรณีที่อัจฉริยะพูดเรื่อง SD Card และตนไม่ตอบนั้น เป็นเพราะได้ตอบกับสื่อไปหลายสำนักแล้วก่อนหน้านี้
ขณะที่ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตอบคำถามเกี่ยวกับบาดแผลที่มีลักษณะเป็นก้างปลาด้านหลังของแตงโม ที่ แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ตั้งข้อสงสัยว่าแตงโมน่าจะไม่ได้ตกจากท้ายเรือ พล.ต.ต.สุพิไชย ได้ชี้แจงว่า ชุดข้อมูลของแพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ เป็นคนละชุดกัน ดังนั้นการให้ความเห็นของแพทย์ จึงเป็นคนละมุมกันได้ โดยตนเชื่อว่าทางตำรวจมีชุดข้อมูลหลากหลายที่น่าจะใช้พิจารณาคดีนี้ได้
สำหรับคำถามเกี่ยวกับใบพัดที่นำมาใช้จำลองเหตุการณ์นั้น พล.ต.ต.สุพิไชย ยืนยันว่าคือใบพัดที่มาจากเรือจริง ซึ่งได้มาตามห่วงโซ่วัตถุพยานอย่างถูกต้อง มีการส่งมาจากผู้มีอำนาจทางกฎหมาย และได้มีการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยการนำมาเทียบเคียงครั้งนี้ พบว่าใบพัดไม่มีความคม แต่มีความหนา 0.2 มม. อีกทั้งร่างได้มีการฉีดฟอร์มาลีนจึงทำให้มีความแข็งกว่าปกติ ดังนั้นการหมุนจำลองจึงไม่เป็นการสร้างบาดแผลเพิ่ม ยืนยันได้ว่าไม่มีทางเกิดแผลใหม่แน่นอน และการตรวจใบพัดเรือเพิ่มเติมในอนาคตก็จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน พล.ต.ต.สุพิไชย ยังกล่าวเพิ่มเติมจากประเด็นนี้ว่า การได้วัตถุพยานของจริงมาเปรียบเทียบ ซึ่งผ่านผ่านเหตุการณ์จริงมา ทำให้ได้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์มากที่สุด
สำหรับประเด็นจำนวนแผลนั้น พล.ต.ต.สุพิไชย ยืนยันว่าทางนิติเวช ตรวจบาดแผลครั้งแรกในวันที่ 26 ก.พ. 2565 พบทั้งหมด 26 บาดแผล และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขนี้อีกเลย ซึ่งการตรวจครั้งที่สองในวันที่ 17 มี.ค. 2565 โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีหลายภาคส่วนร่วมด้วย รวมถึงคุณหญิงหมอพรทิพย์ นับได้ 22 บาดแผล แต่เรื่อง 11 บาดแผลนั้น ตนไม่ทราบจริง ๆ ว่าเป็นข้อมูลจากแหล่งใด
ในส่วนของประเด็นแช็ตหลุดนั้น พล.ต.ต.สุพิไชย รับว่าตนคือผู้ที่คุยกับ คุณหมอธวัชชัย เพราะเห็นว่าเป็นผู้เคยให้ความรู้เกี่ยวกับใบพัดเรือมาก่อนหน้านี้ จึงคิดว่าเป็นประโยชน์ และเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี แต่ประมาณสัปดาห์ก่อน ตนไม่แน่ใจว่าท่านได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนมาหรือเปล่า จึงทำให้เป็นประเด็นที่เกิดผลกระทบต่อคดี ตนจึงตัดสินใจแจ้งท่าน โดยมีเจตนาเพื่อบอกข้อมูลที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ระหว่างคุยกันกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตนจึงพยายามหยุดเนื้อหาการสนทนาไว้ในข้อมูลเท่าที่ให้ได้เท่านั้น
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/PvmEUBgGikE
ถกไม่เถียง
ทิน โชคกมลกิจ
แตงโม นิดา
คดีแตงโม
แตงโมตกเรือ
สถาบันนิติเวชวิทยา
โรงพยาบาลตำรวจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
gps