“ผมไม่ใช่นักการเมือง...แบบเก่าๆ” ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม หน้าใหม่วิสัยทัศน์กว้าง ขออาสาพลิกโฉมทวีวัฒนา
logo ข่าวอัพเดท

“ผมไม่ใช่นักการเมือง...แบบเก่าๆ” ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม หน้าใหม่วิสัยทัศน์กว้าง ขออาสาพลิกโฉมทวีวัฒนา

1,123 ครั้ง
|
11 พ.ค. 2565

“ผมไม่ใช่นักการเมือง...แบบเก่าๆ”

ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม

หน้าใหม่วิสัยทัศน์กว้าง ขออาสาพลิกโฉมทวีวัฒนา

ผมไม่ใช่นักการเมือง...แบบเก่า ๆ ประโยคนี้น่าจะพออธิบายความเป็น ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม ได้พอสมควร กับการตัดสินใจก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรก กับการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ด้วยหมายเลข 7 ของเขตทวีวัฒนา นอกเหนือไปจากการลงพื้นที่รับทราบและตรวจดูปัญหาของพื้นที่แล้ว อีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเข้าถึงตัวเขาได้ก็คือ Facebook ชล ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม ที่ขอบอกเลยว่าเขาคนนี้ใช้ช่องทางนี้ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

 

ตามปกติแล้วใน Facebook ของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง มักจะมีแค่ภาพการลงพื้นที่ หรือภาพอาร์ตเวิร์กที่โชว์นโยบายที่มุ่งหมายจะทำ ส่วนใหญ่เป็นภาพนิ่ง แต่คุณชลพฤกษทำสิ่งที่แตกต่างออกไป หนึ่งในนั้นคือการออกมาแนะนำตัวเอง เลือกแทนตัวเองให้เป็นเหมือนเพื่อนของทุกคน แนะนำประวัติคร่าว ๆ ในรูปแบบของวีดีโอความยาวประมาณ 3 นาที

ในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ เราจะได้เห็นบุคลิก และท่าทางการพูดของเขา มันทำให้เกิดความรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย แตกต่างจากภาพนิ่งทั่ว ๆ ไป และไม่เพียงแค่คลิปแนะนำตัวเท่านั้น เพราะในเฟซบุ๊คนี้ยังเต็มไปด้วยคลิปวีดีโอการลงพื้นที่ หรือการนำเสนอนโยบายในรูปแบบที่มาอธิบายให้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ เรียกได้ว่าเป็นทิศทางการสร้างตัวตนแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ ที่ต้องเน้นไปที่การเข้าถึงง่าย จับต้องได้ ไม่ใช่ผู้ปกครองที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างเพียงอย่างเดียว

 

หนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจของผู้สมัครรายนี้ก็คือ การมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสิ่งที่สำคัญที่สุดในชุมชนนั่นคือ “คนในชุมชน” หรือจะพูดให้มันดูจริงจังขึ้นมาหน่อยก็คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเมื่อพูดถึงคนในชุมชน มันก็ไม่อาจจำกัดได้แค่คนกลุ่มเดียว หรือช่วงวัยเดียว สิ่งที่คุณชลพฤกษมองเห็นก็คือ ทิศทางในการพัฒนาของคนทุกช่วงวัย โดยเขาแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อที่น่าสนใจ คือ...

1.การศึกษาเพื่อเด็กเล็ก ที่จะมุ่งเน้นไปในการพัฒนาศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กให้มีมาตรฐานมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มโรงเรียนทางเลือกให้มีความหลากหลาย เพิ่มช่องทางการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้

2.การค้นหาตัวตนของวัยรุ่น จะเป็นการส่งเสริมทักษะความสามารถทั้งในด้านกีฬา ดนตรี และศิลปะ ซึ่งหากคนไหนยังหาตัวเองไม่เจอ ก็จะจัดให้มีโครงการแนะแนวการศึกษา และแนะนำอาชีพที่เหมาะสมกับยุคสมัย

3.รายได้ที่มั่นคงของวัยทำงาน สำหรับกลไกสำคัญของชุมชนอย่าง วัยทำงาน การพัฒนาเหมาะสมที่สุดก็คือ การเพิ่มพื้นที่ทางธุรกิจ ส่งเสริมและอบรมการสร้างอาชีพใหม่ ๆ รวมไปถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน และให้ความรู้ด้านการเงินที่มั่นคงด้วย

4.เติมเต็มความสุขวัยเกษียณ ในยุคสมัยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย นโยบายด้านนี้จึงเน้นไปที่ ระบบการดูแลผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษา และส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจอย่างครบถ้วน รวมไปถึงการดูแลให้เหล่าผู้สูงวัยยังคงเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง

“ทุกคนมีชีวิตที่ดี ทวีวัฒนาก็น่าอยู่”

ประโยคนี้คือนิยามของ 4 นโยบายที่คุณชลพฤกษระบุเอาไว้ เป็นเหมือนหัวใจหลักในการพัฒนาที่เขามองเห็น ซึ่งเราค่อนข้างเห็นด้วยเลยทีเดียว การพัฒนาที่ยั่งยืนควรเริ่มต้นจากจุดย่อยที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือ คน หากเราสามารถพัฒนาคนให้มีความเข้มแข็งได้แล้ว สิ่งที่จะตามมาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่นี่อาจจะเป็นภาพกว้าง ๆ ของการพัฒนา แต่ในมุมที่เจาะลึกลง เช่น การใช้ชีวิตประจำวันเองก็ไม่สามารถละเลยได้

ในเขตทวีวัฒนามีสถานที่อยู่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า ตลาดธนบุรี สนามหลวง 2 สถานที่แห่งนี้ควรจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย มีความคึกคักในการค้าขาย แต่ปัจจุบันมันกลับเงียบเหงา มีพื้นที่หลายส่วนถูกทิ้งเอาไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีเพียงแค่ไม่กี่ส่วนเท่านั้นเองที่ยังมีผู้คนมาใช้บริการ โจทย์สำคัญที่คุณชลพฤกษจะต้องไขปริศนา และแก้ปัญหาให้ได้หากได้รับเลือกให้เป็น ส.ก.ของเขตทวีวัฒนาก็คือ การทำยังไงให้พื้นที่ส่วนนี้สามารถถูกนำไปใช้อย่างครบถ้วนและเกิดประโยชน์สูงที่สุด

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นของปัญหาที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม การบ้านสำคัญที่คุณชลพฤกษจะต้องทำให้ได้ก็คือ ทำให้ชาวทวีวัฒนาเชื่อใจและมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปัญหาเดิม ๆ มันต้องแก้แบบใหม่ ซึ่งถ้าเขาทำได้ เราเชื่อเลยว่า โอกาสที่จะพลิกโฉมทวีวัฒนา มันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน