เจาะโปรไฟล์ 2 ผู้สมัคร ส.ก. หนุ่มหน้าใหม่ ชลพฤกษแห่งทวีวัฒนา นิธิกรจากบางบอน ทุ่มสุดแรงเพื่อคนกรุง
logo ข่าวอัพเดท

เจาะโปรไฟล์ 2 ผู้สมัคร ส.ก. หนุ่มหน้าใหม่ ชลพฤกษแห่งทวีวัฒนา นิธิกรจากบางบอน ทุ่มสุดแรงเพื่อคนกรุง

3,139 ครั้ง
|
11 พ.ค. 2565

เจาะโปรไฟล์ 2 ผู้สมัคร ส.ก. หนุ่มหน้าใหม่

ชลพฤกษแห่งทวีวัฒนา นิธิกรจากบางบอน

ทุ่มสุดแรงเพื่อคนกรุง

 

ในช่วงเวลาที่หลายสายตากำลังจับจ้องไปที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อีกหนึ่งส่วนที่เป็นเหมือนรากฐานในการพัฒนาเมือง เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ และมีหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เหล่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งขอบอกเลยงานนี้ดุเดือดไม่แพ้กัน เพราะทุกพรรคการเมืองต่างงัดไม้เด็ด ผลักดันพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อเข้ามายื่นมือเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงอันแสนสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อม วันนี้เราจะพาเจาะโปรไฟล์ของ 2 ผู้สมัคร ส.ก. หน้าใหม่ที่ความตั้งใจมาเต็มเปี่ยม พวกเขาเป็นใคร มาจากเขตไหน ไปดูกัน

ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม ผู้สมัครหมายเลข 7 เขตทวีวัฒนา

“ผมไม่ใช่นักการเมือง...แบบเก่า ๆ” ประโยคนี้คือสิ่งแรกที่คุณจะได้เห็นบนหน้า Facebook ของผู้ชายที่ชื่อว่า ชลพฤกษ หรือ ชล เขาคือคนที่มองเห็นว่า เขตทวีวัฒนายังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล สิ่งผู้สมัครคนนี้ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษก็คือ การพัฒนาทรัพยากรคน ถ้าใครที่ได้ลองเข้าไปในเฟซบุ๊คของเขา ก็คงจะได้เห็นภาพการลงพื้นที่สำรวจปัญหาในทวีวัฒนา ตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ บนท้องถนน ปัญหาท่อระบายน้ำ ไปจนถึงสถานที่ทำกิน และการพัฒนาปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังลงลึกไปถึงการพัฒนาเด็กในชุมชน ครอบคลุมผู้คนในทุกช่วงวัย เพราะเขาเชื่อว่า ถ้า “ทุกคนมีชีวิตที่ดี ทวีวัฒนาก็น่าอยู่”

 

ชลพฤกษ วงศ์อรุณนิยม จบการศึกษาในชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก (วิทย์-คณิต) ก่อนจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติ มหิดล และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยการจัดการมหิดล แต่สิ่งที่น่าสนใจของผู้ชายคนนี้ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาของเขาเพียงอย่างเดียว งานแรกของเขายังเริ่มต้นที่การเป็นพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ก่อนจะขยับมาเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของการบินไทย จุดนี้เองที่ทำให้เขาได้ไปเปิดประสบการณ์เห็นความหลากหลายในการพัฒนาเมืองจากต่างประเทศ เห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้น

 

เส้นทางชีวิตของผู้ชายคนนี้ไม่ได้ราบเรียบ ปูทางตรงมาสู่การเป็นนักการเมือง เขาเปลี่ยนบทบาทของตัวเองอีกครั้ง จากการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สู่การทำธุรกิจค้าขายเล็ก ๆ ก้าวสู่วงการโฮสเทล สั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่ มองเห็นวิถีทางในนการแก้ปัญหาด้วยมุมมองใหม่ ๆ นี่เองคือจุดเริ่มต้นที่เขาก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง ด้วยการใช้ความรู้ ความสามารถ และเวลา ทุ่มเข้ามาเพื่อหวังจะพลิกโฉมเขตทวีวัฒนาของตัวเอง

 

นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัครหมายเลข 2 เขตบางบอน

อย่าปล่อยให้ใบหน้าอ่อนเยาว์นี้บดบังความสามารถของเขา เพราะ นิธิกร ได้ทำงานอาสาในพื้นที่เขตบางบอนมาตั้งแต่อายุ 16 ปี เขาได้มองเห็นปัญหาและสิ่งที่ควรปรับปรุงของเขตนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก ผสมผสานกับความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา อาทิ การเขียนเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อร้องเรียนของผู้คนในเขตบางบอนขึ้นมา เพื่อบันทึกรายละเอียดทั้งหมดเอาไว้ และหากตัวเขาเองไม่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็พร้อมจะเปิดโอกาสให้ผู้ชนะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที เป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจ

 

ปาล์ม นิธิกร บุญยกุลเจริญ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ และจบปริญญาตรีจาก ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาฉายแววของการเป็นผู้นำมาตั้งแต่สมัยเรียน และมีความทุ่มเทในสิ่งที่ตัวเองรู้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญก็คือเขาสามารถนำเอาสิ่งที่ร่ำเรียน มาประยุกต์เป็นสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มากได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กับเหตุเพลิงไม้โรงงานกิ่งแก้ว ในตอนนั้นสร้างความตระหนกให้กับคนทั่วทั้งกรุงเทพฯ เกิดความหวั่นกลัวว่าผลกระทบของมันจะรุนแรงแผ่กระจายไปได้มากแค่ไหน นิธิกรคือคนที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการพัฒนาเว็บไซต์ Emergency Alert ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบตำแหน่งที่อยู่ของตัวเองว่าอยู่ในเขตที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ น่าสนใจทีเดียวว่าถ้าคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ก้าวเข้ามาสู่การเป็น ส.ก. แห่งเขตบางบอน เขาจะสามารถเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาพัฒนาเขตของเขาได้มากน้อยขนาดไหน

ขอบอกเลยว่า ดาวเด่นทั้ง 2 คน ต่างก็มีจุดเด่นทางนโยบายที่โดดเด่นไม่แพ้กัน สิ่งสำคัญก็คือพวกเขาเป็น เลือดใหม่ ที่อาสาเข้ามาเพื่อพัฒนาเมืองในแบบฉบับของตัวเอง ผ่านการที่ได้เห็นปัญหา และมองเห็นหนทางการในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปจากเดิม

สิ่งที่น่าจะเป็นตัวตัดสินได้ก็คือ พวกเขาจะสามารถมองเห็นปัญหาในเขตของตัวเองได้ครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ลองเรียนรู้ ทำความรู้จักพวกเขา มองไปที่นโยบาย แล้วไปเลือกคนที่คุณคิดว่าจะสามารถเข้าไปพัฒนาเขตของคุณ และอย่าลืมไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงพร้อมกัน 22 พฤษภาคมนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง