รถ EV (Electric Vehicle) หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใครหลายคนรู้จัก กำลังเป็นกระแสที่น่าสนใจของคนรักยนตรกรรม ที่สร้างแรงดึงดูดมากกว่าเดิมด้วยมาตรการเย้ายวนชวนให้ซื้อจากทางภาครัฐ ซึ่งทำให้เราสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้นกับราคาใหม่และความคุ้มค่าสู่การขับขี่แห่งอนาคต
ในช่วงปลายปี 64 มีข่าวลือว่าทางภาครัฐเตรียมเคาะนโยบายสนับสนุนรถ EV ซึ่งทำให้หลายคนตั้งตารอว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงเมื่อไหร่ และในที่สุดก็ได้มีการเคาะนโยบายนี้เป็นที่เรียบร้อยก่อนงาน Motor Show ซึ่งทาง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน ได้แก่ MG และ Great Wall Motor (GWM) ได้จับมือเซ็น MOU กับทางกรมสรรพสามิตเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงเกิดเป็นราคาใหม่ที่เอื้อมถึงง่ายมากกว่าเดิม
ทางภาครัฐได้จำแนกรถ EV ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท หรือ Mass Market และกลุ่มราคามากกว่า 2 ล้านบาท หรือ Premium ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จากทางค่ายรถยนต์ในการลดหย่อนภาษีที่คล้ายคลึงกันแต่จะมีความต่างกันในเรื่องของอัตราภาษีนำเข้าและข้อกำหนดและเงื่อนไขบางส่วน
ในส่วนของกลุ่ม Mass Market ทางภาครัฐมีนโยบายลดภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 40% ซึ่งจะเหลือเพียง 40% จากเดิมที่ 80% ทั้งนี้ รถยนต์ที่นำเข้าจากจีนจะมีข้อตกลงทางการค้ากำหนดอยู่แล้วที่ 0% นั่นหมายถึงทั้ง MG และ GWM สามารถนำเข้ารถยนต์มาในประเทศไทยด้วยภาษี 0% อยู่แล้ว จึงไม่มีความแตกต่างในเรื่องของภาษีนำเข้า ส่วนที่ต่างกันคือภาษีสรรพสามิต โดยหลังจากเซ็น MOU แล้ว จะลดจาก 8% เหลือเพียง 2% เท่านั้น
โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าทางค่ายรถยนต์จะต้องมีการประกอบรถในไทยต่อเนื่องไปอีกในอนาคตตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นยังได้รับเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐเพิ่มอีก 150,000 บาทสำหรับรถ EV ที่มีขนาดแบตเตอรี่ 30 kWh ขึ้นไป และ 70,000 บาทสำหรับรถ EV ที่มีขนาดแบตเตอรี่ 10-30 kWh จึงเป็นที่มาในการปรับฐานราคาลงของทั้ง MG และ GWM
ในส่วนของกลุ่ม Premium จะได้รับสิทธิประโยชน์คล้ายคลึงกัน คือ ภาษีสรรพสามิตที่ลดจาก 8% เหลือ 2% ต่างกันที่ภาษีนำเข้าลดสูงสุด 20% เหลือ 60% และไม่มีเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ อีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจของรถ EV กลุ่มนี้ คือ รุ่นที่นำเข้าและได้ลดภาษีในช่วงอนุโลม 2 ปีแรก ปี 65 และ 66 จะต้องเป็นรุ่นเดียวกันกับรุ่นที่จะประกอบในอนาคตเท่านั้น ซึ่งต่างจากกลุ่ม Mass Market ที่สามารถเป็นคนละรุ่นได้
อีกข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ 2% จะมีเฉพาะรถ EV ประเภท ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ไม่มีการคลายมลภาวะใด ๆ ออกมา เช่น BEV (Battery Electric Vehicle) รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) รถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ส่วนรถ EV ประเภทอื่น ๆ ที่มีเครื่องยนต์เป็นส่วนประกอบนั้นจะไม่เข้าร่วมโครงการ
คำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับสถานีชาร์จ หากเราต้องเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ในเรื่องของความพร้อมในการรองรับรถ EV ณ ปัจจุบัน จะทำอย่างไร คำตอบคือ ในไทยมีสถานีชาร์จ หรือ Public Charging Station ที่รองรับอยู่ประมาณ 2,200 หัวจ่ายทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
- หัวจ่ายแบบชาร์จเร็ว หรือ DC Fast Charge ประมาณ 700 หัวจ่าย
- หัวจ่ายแบบ AC Normal Charge ประมาณ 1,400 หัวจ่าย
ซึ่งภายในปี 68 มีแผนการขยายสถานีชาร์จที่ใช้หัวจ่ายแบบ DC Fast Charge ให้มากถึง 4,400 สถานี ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-80% ได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้รถ EV ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมดและสบายใจได้ในทุก ๆ การเดินทาง
คำแนะนำสำหรับการชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ที่บ้าน จะต้องใช้กำลังไฟเยอะกว่าปกติ ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ที่รองรับ หากเป็นวิธีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถขอมิเตอร์แยกได้ หรือหากเป็นวิธีของการไฟฟ้านครหลวง สามารถทำวงจรเชื่อม และให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ถ้าจำเป็นต้องขยายมิเตอร์เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ เพื่อความปลอดภัยและสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความคุ้มค่าของรถ EV เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับรถยนต์ สมมติว่าน้ำมันราคา 38 บาท/ลิตร โดยมีอัตราสิ้นเปลืองที่ 15 กม./ลิตร พบว่ารถยนต์กินน้ำมันเฉลี่ยประมาณ 2.5 บาท/กม. ส่วนรถ EV สมมติว่าค่าไฟราคา 4 บาท/ยูนิต โดยมีค่าใช้จ่าย 200 บาท/การชาร์จ 1 ครั้ง พบว่ารถ EV กินไฟเฉลี่ยประมาณ 0.6 บาท/กม. เท่านั้น จะเห็นได้ถึงความต่างที่ทำให้เราประหยัดได้มากขึ้นถึง 4 เท่า
รถ EV ในปี 65 เป็นต้นไปคาดว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจอย่างแน่นอน ด้วยกระแสที่กำลังมาแรง นอกเหนือไปกว่านั้นยังมีนโยบายจากทางภาครัฐที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นให้คนซื้อ กับราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การตัดสินใจเลือกใช้รถ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและพฤติกรรมการขับขี่ของแต่ละคน ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ใช้รถในชีวิตประจำวันเพียงแค่เดินทางไปทำงาน ขับไปทำธุระ และไปเที่ยวบ้างในวันหยุด รถ EV ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ ซึ่งได้ทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละทริป การดูแลรักษาที่ไม่มีปัจจัยเรื่องเครื่องยนต์จุกจิก และยังเป็นมิตรต่อโลกและเพื่อนร่วมทางอีกด้วย