logo ถกไม่เถียง

เลือกตั้งในรอบ 9 ปี! ส่องจุดขายผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. #ถกข่าวร้อน

ถกไม่เถียง : เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการ “เคาะระฆัง” สู่บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่ ถกข่าวร้อน,เลือกตั้งผู้ว่ากทม.,ผู้สมัครผู้ว่ากทม.,จับฉลาก,ชัชชาติ สิทธิพันธุ์,ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์,วิโรจน์ ลักขณาอดิศร,พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง,นต.ศิธา ทิวารี

399 ครั้ง
|
31 มี.ค. 2565
เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการ “เคาะระฆัง” สู่บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยจะเปิดรับสมัครทั้งสิ้น 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.จนถึง 4 เม.ย.นี้ ไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมกับพาไปไล่เรียงบรรยากาศภาพรวม ทั้งการเดินทางมารายงานตัวของบรรดาผู้สมัคร การจับฉลากเบอร์ และการลงพื้นที่หาเสียงแบบรวดเร็วทันใจ 
 
            ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากหายไปกว่า 8-9 ปี จึงทำให้ได้รับความสนใจจากคนกรุง แน่นอนว่า “แสงสปอร์ตไลท์” จะพุ่งไปที่ตัวผู้สมัครจากสังกัดต่างๆ เริ่มกันที่ผู้สมัครท่านแรกที่เดินทางมารายงานตัวผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ซึ่งวันนี้เดินทางมาถึงเป็นคนแรก โดยปั่นจักรยานเข้ามาที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง  
 
            โดยนายชัชชาติ ได้หมายเลข 8 ซึ่งการลงพื้นที่หาเสียงของนายชัชชาติ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชน เพื่อให้สะท้อนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  พร้อมกับเคยบอกว่า มีแนวคิดที่จะจัด ผู้ว่าฯ สัญจรเดินทางไป 50 เขตทั่วกรุงเทพ เพราะปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
 
            สำหรับ ผลงานที่ผ่านมาของนายชัชชาติ ซึ่งมักจะถูกพูดถึงและมีภาพจำในฐานะ “บุรุษที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี” โดยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ เป็นอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่รอบนี้ นายชัชชาติ ได้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ พร้อมประกาศชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนแรกๆอีกด้วย  
 
            หลังจากนั้น ผู้สมัครแต่ละคนก็ค่อยๆเดินทางมารายงานตัว เราจะมาไล่เรียงบรรยากาศของแต่ละท่านกัน อย่าง ดร.เอ้ สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “พี่เอ้” ซึ่งเจ้าตัวยอมสละเก้าอี้อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ” ซึ่งโชว์วิสัยทัศน์ที่เคยนำเสนออย่างชัดเจน คือ กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน คำว่า เมืองสวัสดิการหมายความว่า ไม่ว่ายากดีมีจนแต่ต้องอยู่ในเมืองนี้เท่าเทียมกัน โดย ดร.เอ้ ได้หมายเลข 4 
 
            ท่านถัดมาคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้หมายเลข 1 โดยเป็นผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล และเป็น อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเจ้าตัวมีภาพจำ คือ “คนกล้าพูด ท่าทางปะฉะดะ” มีบางคนนำไปเปรียบเทียบกับ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งในช่วงหลังได้รับความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า พรรคก้าวไกล มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ และถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้อีกด้วย 
 
            โดยสีสันในการเดินทางของนายวิโรจน์ พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคก้าวไกล จำนวน 51 ราย ได้เดินทางมาด้วย “รถเมล์” สายสีส้ม หมายเลข 46 เพื่อมาสมัครรับเลือกตั้ง โดยมาพร้อมสโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ” 
 
            ต่อมา คือ นต.ศิธา ทิวารี  หรือ ผู้พันปุ่น เบอร์ 11 อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร และอดีตนักบิน F-16 ที่ห่างหายเวทีการเมือง โดยรอบนี้ขอลงสมัครเวที ผู้ว่าฯกทม.ในสังกัด พรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคเป็นผู้ผลักดัน ซึ่งคุณหญิงหน่อย เป็นคนการันตีเลยว่า ได้มอบให้คนที่ไว้วางใจที่สุด มีฝีมือที่สุดลงมาทำงาน และมีดีเอ็นเอของสุดารัตน์ เต็มที่ 100% มานำทัพไทยสร้างไทยใน กทม. 
 
            โดยผู้พันปุ่น มาพร้อมสโลแกน “มหานครของโลกที่คนทั่วโลกยอมรับ” พร้อมเปิด นโยบาย 3P แก้ปัญหาคนกรุงฯ คือ People สร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพฯ เพราะประชาชนคือผู้สร้างเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
            P ที่ 2 คือ Profit สร้างมหานครแห่งความมั่งคั่ง แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน และ P ที่ 3 คือ Planet โดยจะสร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯอย่างยั่งยืน
 
            ต่อมาเป็นเจ้าของเก้าอี้เดิม คือ พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ซึ่งลงในนามอิสระ และได้หมายเลข 6 โดยเป็นอดีตผู้ว่าฯกทม.ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช.แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่โดนปลดออก จึงเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง บริหารกทม.มานานกว่า 5 ปี ซึ่งเจ้าตัวขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพฯต้องไปต่อ”   
 
            สำหรับ การชูนโยบายที่เป็นจุดเด่น มีด้วยกัน 8 ข้อ คือ 1.นโยบายเมืองป้องกันน้ำท่วม 2.นโยบายเมืองเดินทางสะดวก 3.นโยบายเมืองแห่งสุขภาพ 4.นโยบายเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม 5.นโยบายเมืองปลอดภัย 6.นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ 7.นโยบายเมืองดิจิทัล และ 8.นโยบายเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย

ชมผ่าน YouTube ได้ที่  https://youtu.be/mKzDZDMGWO0