สะเทือนใจผู้เป็นแม่ยิ่งนัก จากกรณีสะเทือนขวัญ "เผานั่งยางแฟนสาว" โดยผู้เป็นแม่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของลูกจนจับผู้กระทำผิดได้ แต่ล่าสุดแม่ของเหยื่อได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมเนื่องจากผู้ต้องขังกำลังได้รับการพักโทษ จาก 33 ปี 11 เดือน เหลือ 4 ปี 6 เดือน
โดย พัชรี ปั้นทอง แม่ของน้องพลอยที่ถูกทหารยศสิบเอก ออกมาเปิดใจผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ภานุรัจน์ ศนีบุตร ว่า น้องหายไปตั้งแต่ปี 2557 มาเจอศพตอนปี 2560 โดยถูกฆ่านั่งยาง แม่ก็ต่อสู้คดีเรื่อยมา สรุปสุดท้ายเขาถูกตัดสินจำคุก 33 ปี 11 เดือน ล่าสุดแม่ได้ยินข่าวว่าเขาจะได้พักโทษติดคุกเพียง 4 ปีกว่าๆ หลังเกิดเหตุแม่ต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้า กินยาคลายเครียดมาตลอดตั้งแต่เกิดคดี แต่กฎหมายมาเมตตามัน แต่ไม่เมตตาตาตนหรือ ทำไมถึงพักโทษให้เขา แม่แค่อยากรู้ว่าเขาใช้หลักเกณฑ์อะไรมาพักโทษ การที่แม่เข้าสู้กระบวนการยุติธรรม ต่อสู้มาตลอด พอมารู้ข่าวพักโทษมันใจสลาย
แม่ไม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากครอบครัวเขาเลย หรือแม้แต่คำขอโทษสักคำไม่เคยได้รับจากครอบครัวเลย เขาด้อยค่าแม่กับน้องมาก
ด้าน อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้ความเห็นว่า เขาเป็นคนแรกในประเทศไทยที่ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นปีเดียว 4 ชั้นยศ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์จะต้องมีการเลื่อนชั้นปีละ 2 ครั้ง คือเดือน มิถุนายน และ ธันวาคม ซึ่งเขาได้เลื่อนชั้นเพิ่มเติมจากโครงการพิเศษเพราะสถานการณ์โควิด จึงต้องระบายนักโทษออก ซึ่งเขาได้อภัยโทษปี63 ครั้งแรก 7 ปี ครั้งที่สอง 7 ปี ปี64 อีก 2 ครั้ง คือ 6 ปีกับ 5 ปี รวมแล้วได้ลดโทษ 25 ปี เหลือโทษเพียง 8 ปี 11 เดือน และจากที่เขาจำคุกมาตั้งแต่ชั้นต้นทำให้เหลือเพียง 4 ปี 5 เดือน เข้าเกณฑ์พักโทษ ปัญหาของเคสนี้คือผมไม่ทราบว่าในคำฟ้องมีมาตรา 288,289 ไหม ถ้ามีเขาจะไม่ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นเลย
ส่วนตัวมองว่าคดีนี้ไม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมได้ เพราะเขาทำคดีอุกฉกรรจ์มาก เป็นคนโหดเหี้ยม แล้วติดคุกแค่ 4-5 ปี อีกหน่อยก็เป็นตัวอย่างที่เลวของสังคม
ณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชากรมากขึ้นผู้กระทำผิดก็มากขึ้นผู้ต้องขังก็ล้นคุก จึงได้มีการระบายผู้ต้องขังออก หนึ่งในกระบวนการนั้นก็คือการพักการลงโทษ คือ นักโทษที่เข้ามาในเรือนจำระยะหนึ่ง มีการแก้ไขฟื้นฟูเลื่อนชั้นแล้ว ก็จะมาเข้ากระบวนการพักการลงโทษเพื่อนำออกจากห้องขังสี่เหลี่ยม แต่ยังไม่พ้นโทษยังคงมีเงื่อนไขคุมความประพฤติอยู่ คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 33 ปี 11 เดือน ปรากฎว่าเกินการควบคุมของเรือนจำจังหวัดสระบุรีซึ่งมีอำนาจการควบคุมไม่เกิน 15 ปี จึงย้ายไปเรือนกลางจำบางขวาง จนกระทั่ง 15 ม.ค. 63 คดีตัดสินจนถึงที่สุด เขาได้ชั้นกลางตามกฎหมาย ซึ่งการเลื่อนชั้นไม่ได้คำนึงถึงประเภทคดี แต่ดูตามพฤติกรรม ต้องประพฤติดี อุตสาหะ ทำความชอบแก่ราชการ ไม่ผิดวินัย ถึงจะได้เลื่อนชั้น และเลื่อนเป็นชั้นดี 1 ก.ค. 63 ชั้นดีมาก 1 ต.ค. 63 ชั้นเยี่ยม 1 ม.ค. 64 โทษจึงเหลือ 8 ปี 11 เดือน 17 วัน เหลือจำคุกอีก 4 ปี 4 เดือน
ทั้งนี้กระบวนการได้รับพักการลงโทษจะต้องติดมาแล้ว 2 ใน 3 ส่วน ถึงจะได้รับพักการลงโทษไม่เกิน 1 ใน 3 ส่วน กรณีนี้ 4 ส.ค. 66 เขาถึงจะเข้าเกณฑ์การลงโทษ ก็จะมีการถามผู้เสียหายว่าติดใจ ยินยอมไหมถ้าจะพักโทษ ก็จะนำความเห็นส่งต่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาต่อ โดยจะมีการพิจารณาว่าออกไปจะกระทำผิดซ้ำไหม หรือคดีร้ายแรงไหม ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ จะคำนึงถึงผู้เสียหายเป็นหลัก เบื้องต้นคดีนี้ยังไม่มีการพักโทษ
“สำหรับเรื่องการอภัยโทษ ถ้าคดีไหนสังคมไม่เห็นด้วยเราก็จะไม่ให้อภัยโทษเลย ขณะนี้กำลังมีการแก้กฎหมายหลายฉบับ โดยคดีที่เกี่ยวกับเพศ และความรุนแรง จะมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมต่างๆ” ณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง
hitz955.com
+ อ่านเพิ่มเติม