วันที่ 3 มี.ค. 65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำและเร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่เป็นการบูรณาการจากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งการประชุมในวันนี้ ได้เห็นชอบการจัดลำดับเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ในปี 2566-2567 จำนวน 469 รายการ
ตามการจัดทำเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1.การแก้ปัญหาโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์
2.ความสำคัญเชิงนโยบายของโครงการ
3.ความสอดคล้องแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
4.มูลค่าต่อหน่วยของโครงการ
5.ความสอดคล้องที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มอบให้หน่วยงานเร่งรัดการเตรียมความพร้อมโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามลำดับความสำคัญ รวมทั้งให้ สทนช. และสำนักงบประมาณ นำเป้าหมายโครงการสำคัญที่จัดลำดับความสำคัญแล้ว เป็นข้อพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เนื่องจากแผนหลักดังกล่าวเป็นแผนงานขนาดใหญ่ มีผลสัมฤทธิ์และผลกระทบต่อพื้นที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งมีแผนงานย่อยและหน่วยงานดำเนินการจำนวนมาก และได้มีมติเห็นชอบร่างคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวม 23 ท่าน จาก 15 หน่วยงาน เพื่อกำกับ ดูแล เร่งรัด ติดตาม และขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมจนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง รวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำและเขตคลอง เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ อีกทั้ง การเชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงหรือให้ข้อมูลต่อคณะทำงานฯ ได้ตามความเหมาะสม
ด้าน ดร.สุรสีห์ เลขา สทนช.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-2569) ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อบำบัดน้ำเสียได้ 42,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เช่น คลองแสนแสบ คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่น ในเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง ครอบคลุมพื้นที่ 15.39 ตารางกิโลเมตร โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กรุงเทพมหานครเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของโครงการที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
+ อ่านเพิ่มเติม