ดีเดย์ 1 มี.ค.นี้ เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางไซเบอร์
logo ข่าวอัพเดท

ดีเดย์ 1 มี.ค.นี้ เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางไซเบอร์

ข่าวอัพเดท : เปิดแล้วศูนย์รับแจ้งความออนไลน์คดีทางเทคโนโลยี ดีเดย์ 1 มี.ค. 65 ดึง 21 ธนาคารทำ MOU เพิ่มประสิทธิภาพติดตามคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น รับแจ้งความออนไลน์,อาชญากรรมทางไซเบอร์,เทคโนโลยี,MOU

516 ครั้ง
|
01 มี.ค. 2565
         เปิดแล้วศูนย์รับแจ้งความออนไลน์คดีทางเทคโนโลยี ดีเดย์ 1 มี.ค. 65 ดึง 21 ธนาคารทำ MOU เพิ่มประสิทธิภาพติดตามคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
            วันที่ 28 ก.พ.เวลา 10.00 น. ที่อาคารหอประชุมสัมมนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมืองทองธานี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นประธานเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ตร. กับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก รวม 21 ธนาคาร ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบช.สทส., พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ ทุกหน่วยทั่วประเทศ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และ สมาคมพนักงานสอบสวน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
 
         พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า โครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรทางเทคโนโลยีนี้ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงตำรวจได้ง่ายขึ้น ด้วยการแจ้งความทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ตโฟน โดยจะต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กรอกข้อมูลทางคดี ตามขั้นตอนจนเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ  Case ID” เช่น 65021 จะมีผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) และผู้บริหารคดี (Case Manager) วิเคราะห์ข้อมูล และส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความ โดยสถานีตำรวจที่ได้รับเรื่องจะเริ่มกระบวนการสืบสวนในทันทีที่ได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์
 
           ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า เมื่อ Admin ของสถานีตำรวจรับเรื่องแล้ว ก็จะนำเสนอผู้บริหารคดี เพื่อจ่ายคดีให้แก่พนักงานสอบสวนทำการโทรนัดหมายผู้แจ้ง หรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ และรายงานความคืบหน้าทางคดีในระบบออนไลน์ โดยผู้เสียหายจะสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ ในคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ ประชาชนก็ยังสามารถไปแจ้งความโดยตรงได้ทุกสถานีตำรวจที่ท่านสะดวก แม้สถานีตำรวจนั้นจะไม่มีอำนาจการสอบสวน ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจการสอบสวนต่อไป
 
           “เราคาดหวังว่า ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้น มีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องไปรอคิวที่สถานีตำรวจ  ไม่ต้องให้การในเรื่องเดิมซ้ำหลายครั้ง และสามารถร้องขอให้ธนาคารระงับธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เงินของผู้เสียหายถูกโอนไปยังเครือข่ายของคนร้าย และเจ้าหน้าที่เองก็จะได้รับประโยชน์กรณีผู้ต้องหากระทำความผิดหลายท้องที่ เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงคดี มีข้อมูลที่สามารถขอศาลออกหมายจับได้ง่ายขึ้น” ผบ.ตร. ระบุ
 
           เมื่อถามถึงความพร้อม ผบ.ตร. กล่าวว่า เราได้ปรับปรุงพัฒนาและทดสอบระบบจนสามารถใช้การได้เป็นอย่างดี โดยจะเริ่มเปิดใช้งานจริงในวันที่ 1 มี.ค.65 นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดฝึกอบรม Admin และ ผู้บริหารคดี ทั่วประเทศ จำนวน 8,383 นาย พนักงานสอบสวน 10,487 นาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนอีก 12,305 นาย รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 31,175 นาย รวมทั้งมีการการทดสอบความรู้หลังการฝึกอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกนายจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
             นอกจากนี้เราได้จัดพิธีทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ตร. กับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และ 21 ธนาคารสมาชิก ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยให้ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ของ ตร. เป็นศูนย์กลางในการร่วมกันกำหนดแนวทางติดตามเส้นทางการเงินของคนร้ายและเครือข่าย เพื่อป้องกันมิให้คนร้ายโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ไปยังกลุ่มเครือข่าย รวมถึงกำหนดรูปแบบและวิธีการรับส่งข้อมูลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย และหากคดีมีความเชื่อมโยงกับบัญชีหลายธนาคาร ก็จะมีคณะทำงานย่อยร่วมกันเพื่อให้การสืบสวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้จะมีการกำหนดรูปแบบในการประชาสัมพันธ์เตือนภัยถึงพฤติการณ์ในรูปแบบต่างๆ ของคนร้าย และแลกเปลี่ยนเทคนิค ข้อมูลความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
            ด้าน นางสิริธดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผนึกกำลังกัน  ในการแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้างในขณะนี้ ทั้งจากปัญหาการฉ้อโกง หลอกลวง การแอบอ้าง และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายทางการเงินและทรัพย์สินของประชาชน
 
         ทั้งนี้หากมีปัญหาสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1441 ตลอด 24 ชม. หรือ 081-8663000 เวลาราชการ