หนี้ครัวเรือนไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท แนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ห่วงหนี้เสีย จี้เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด
logo ข่าวอัพเดท

หนี้ครัวเรือนไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท แนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ห่วงหนี้เสีย จี้เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ข่าวอัพเดท : สภาพัฒน์ฯ เผยภาวะหนี้สินครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท แนวโน้มหนี้สูงขึ้นจี้เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด สภาพัฒน์ฯ,หนี้สินครัวเรือน,หนี้ครัวเรือน,14 ล้านล้านบาท,หนี้เสีย

506 ครั้ง
|
01 มี.ค. 2565
        สภาพัฒน์ฯ เผยภาวะหนี้สินครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท แนวโน้มหนี้สูงขึ้นจี้เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด
 
         วันที่ 28 ก.พ. น.ส.จินางค์กูร  โรจนนันต์  รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2564  ในส่วนของหนี้สินภาคครัวเรือน พบว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2564 มีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.1  โดยสินเชื่อทุกประเภทชะลอตัวลง  โดยหนี้สินทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 89.3 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.89 ลดลงจากร้อยละ 2.92 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน
 
          อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้
 
ระยะถัดไปหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก
 
1. ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 เกินเป้าหมายที่ 30,000 คัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การก ากับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน
 
2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว
 
           สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป  ดังนั้น  จึงต้องให้ความสำคัญกับ 
 
1. การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 
 
2. ส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป
 
3. การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง