การระบาดของโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ “โอมิครอน” ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อตอนนี้กลับไปแตะหลักหมื่นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และยังคงมียอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉียด 2 หมื่นรายต่อวัน ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ และคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มประเทศไทยจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว พร้อมกำชับมาตรการ 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร เตียง บุคลากรทางการแพทย์ และระบบการดูแลรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) รวมทั้งการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Admit) ในกรณีที่มีอาการมากและรุนแรง
2.ประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ของจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจที่จะเข้าถึงระบบบริการ
3.เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือบูสเตอร์โดสในประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค
และ 4.แจ้งให้ประชาชนป้องกันตนเองและครอบครัว และสร้างการรับรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดโควิด เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้
ขณะที่สถานการณ์การผู้ติดเชื้อของผู้ป่วยที่รอเตียงในการรักษาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการแชร์ภาพที่ประชาชนที่ติดเชื้อโควิดออกมารอรับการรักษาตามสถานที่ต่างๆ
ทีมข่าวได้สอบถามเรื่องนี้กับนายดลชนก บุณโยทยาน (อ่านว่า บุน – โย – ทะ – ยาน) ที่ปรึกษามูลนิธิเส้นด้าย บอกว่า จากการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 2,000 คนแล้ว และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พบกับประชาชนที่ติดเชื้อออกมารอรับการรักษาตามสถานที่ต่างๆ หรือออกมานอนข้างถนน 3 – 4 รายแล้ว แต่เชื่อว่า น่าจะมีจำนวนมากกว่านี้
สำหรับเหตุผลที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องออกมารอรับการรักษาตามสถานที่ต่างๆ มีสาเหตุหลักคือ พวกเขาไม่สามารถอยู่กับสังคมที่ต้องอาศัยอยู่ได้ เช่น บางคนอยู่ตามหอพัก เมื่อมีคนรู้ว่าติดเชื้อก็จะถูกไล่ออกมาให้หาที่รักษา บางคนอยู่บ้านก็ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้
ขณะที่บางคนไม่รู้ว่า ตัวเองจะต้องไปขอยารักษาในการทำ Home Isolation ที่บ้านจากหน่วยงานไหน ก็ทำได้เพียงแค่ออกมาขอความช่วยเหลือ บางคนไม่ได้รับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ จึงได้แต่โทรศัพท์ไปสอบถามตามเบอร์สายด่วนต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ที่ผู้ป่วยต้องการ และตนเชื่อว่า ถ้าคนไม่เดือดร้อน หรือไร้ที่พึ่งจริงๆ เขาคงไม่ออกมานอนตามข้างถนนแน่นอน
ประเด็นการหาสถานที่รักษาของผู้ป่วยที่กลายเป็นดรามาในโซเชียลตอนนี้ เจ้ากระทรวงอย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็บอกว่า ยืนยันไม่เป็นความจริงกรณีมีประเด็นดราม่าผู้ป่วยโควิดนอนข้างถนน เพราะไม่มีโรงพยาบาลรับไปรักษา ซึ่งมันไม่มี ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะมันไม่มีเหตุการณ์แบบนั้น
ส่วนประเด็นมีการแชร์ภาพในโซเชียลมีเดีย ได้ย้ำว่า “มันไม่มี และไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ พอเห็นข่าวก็ประสานกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข สอบถามซ้ำแล้วซ้ำอีก และจำนวนเตียงที่มีอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ก็มีความพร้อมในการรักษา
ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนเป้าหมายของมาตรการดูแลสถานการณ์ตอนนี้ว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนเป้าหมายจากการลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด เป็นการลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตหลังการติดเชื้อ
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/RMLPCEKt7qE
ถกข่าวร้อน
ถกไม่เถียง
ทิน โชคกมลกิจ
โอมิครอน
มาตรการป้องกันโควิด19
ยอดติดเชื้อโควิด19
สถานการณ์โควิด19
กระทรวงสาธารณสุข