logo ถกไม่เถียง

ปัญหาซ้ำซากยากแก้ไข วัยรุ่นบัวใหญ่ เปิดศึกตะลุมบอน ขว้างระเบิดใส่อริ ไม่จบ ตามล่าต่อถึงรพ. #ถกข่าวร้อน

ถกไม่เถียง : วัยรุ่นบัวใหญ่เปิดศึกตะลุมบอน ขว้างระเบิด หลังเที่ยวงานถนนคนเดิน กู้ภัยเร่งนำคู่อริ-ชาวบ้านเคราะห์ร้ายส่งรักษา แต่ไม่จบ ตามไปก่อเหตุ ถกไม่เพียง,ถกข่าวร้อน,โรงพยาบาล,ปัญหาซ้ำซาก

486 ครั้ง
|
14 ก.พ. 2565

         วัยรุ่นบัวใหญ่เปิดศึกตะลุมบอน ขว้างระเบิด หลังเที่ยวงานถนนคนเดิน กู้ภัยเร่งนำคู่อริ-ชาวบ้านเคราะห์ร้ายส่งรักษา แต่ไม่จบ ตามไปก่อเหตุที่โรงพยาบาล ตำรวจเร่งเข้าควบคุมพื้นที่

        กลับมาอีกแล้วกับปัญหาซ้ำซากที่อยู่คู่กับสังคมไทย ก็คือ ปัญหาการทะเลาะวิวาท  ตามล่าคู่อริถึงในโรงพยาบาลของกลุ่มอันธพาลหัวร้อน ล่าสุด เกิดเหตุความรุนแรงที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

       จากกรณีที่โลกโซเชียล จ.นครราชสีมา ต่างพากันแชร์และกล่าวถึงคลิปวิดีโอหนึ่งที่เผยให้เห็นกลุ่มวัยรุ่นตะโกนด่าทอกันไปมา พร้อมทั้งปาระเบิดเสียงดัง ประมาณ 2-3 ครั้ง และมีการเบิ้ลเครื่องรถมอเตอร์ไซค์ขี่ไปมาอยู่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีวัยรุ่นบางรายขว้างปาสิ่งของไปยังบริเวณด้านหน้าห้องฉุกเฉินที่กลุ่มคู่กรณีเข้ามารักษาอาการบาดเจ็บ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาควบคุมพื้นที่ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นต่างแยกย้ายกันหลบหนีไปคนละทิศคนละทางนั้น

      จากการตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วานนี้ (13 กุมภาพันธ์) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา รับแจ้งเหตุกลุ่มวัยรุ่นรวมตัวก่อเหตุทะเลาะวิวาทด้านหน้าบึงบัวใหญ่ หลังจากกลุ่มวัยรุ่นได้ออกมาจากงานถนนคนเดิน ซึ่งทางผู้จัดได้ว่าจ้างวงดนตรีหมอลำมาแสดง ทำให้มีการรวมกลุ่มของวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงเกิดการกระทบกระทั่งกัน

       กระทั่งงานเลิก วัยรุ่นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บเดินออกมาตรงทางออก เมื่อเจอคู่อริจึงขว้างปาระเบิดใส่กัน เบื้องต้นคาดว่าเป็นระเบิดปิงปอง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณนี้ จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นทั้งคู่กรณีที่ทะเลาะวิวาทและชาวบ้านที่มาเดินเที่ยวงานแล้วโดนลูกหลง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยบัวใหญ่จึงเข้าทำการช่วยเหลือคนเจ็บนำส่งรักษาโรงพยาบาลบัวใหญ่

         หลังจากนั้น ทางฝั่งคู่กรณีได้ตามมาหาเรื่องต่อที่หน้า รพ.บัวใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังเข้าระงับเหตุ และเข้าควบคุมพื้นที่ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุแตกกระเจิงหลบหนีไป จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลป้องกันกลุ่มวัยรุ่นกลับมาก่อเหตุซ้ำอีก

           เบื้องต้น ต้องรอให้ผู้บาดเจ็บรักษาจนอาการดีขึ้น จึงจะได้ประสานเข้าให้ปากคำ เพื่อหาตัวกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุบริเวณหน้าโรงพยาบาล นำตัวมาสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เราจะมาย้อนดูกันว่า เหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นข่าวดัง มีมาแล้วกี่ครั้ง

         เริ่มจากปี2555 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงศีรษะบุรุษพยาบาลโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เสียชีวิตคาห้องฉุกเฉินเพราะไม่พอใจที่พาภรรยามารักษา แต่บุรุษพยาบาลถามมาก ไม่ยอมเริ่มรักษาจึงชักปืนจ่อยิงจนเสียชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมไม่มีเครื่องตรวจอาวุธก่อนเข้าโรงพยาบาล

          ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์2558 เหตุการณ์ยกพวกตีกัน โรงพยาบาลสิริธรกรุงเทพมหานคร / ถัดมาในเดือนมีนาคม ปี 2559เหตุบุกทำร้ายคู่อริ โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครและปี 2562 เกิดเหตุต่อเนื่องกันถึง 3ครั้ง คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เกิดเหตุบุกทำร้ายคู่อริ โรงพยาบาลกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี / เดือนเมษายน 2562ยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเหตุบุกทำร้ายคู่อริในโรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา

            จากนั้นอีกไม่ถึงเดือน ช่วงเดือนพฤษภาคม เกิดขึ้นถึง 2 เหตุการณ์ คือ ที่โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานีและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธรจนล่าสุดที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ

          “ทีมงานถกประเด็นร้อน” ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2555 - 2562 เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่สถานพยาบาลมากถึง 64 เหตุการณ์ แบ่งเป็นการทะเลาะวิวาท 29 เหตุการณ์ / ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 22 เหตุการณ์ / ทำลายทรัพย์สิน 4 เหตุการณ์ / ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ / กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ / พนักงานเปลทะเลาะกับผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ และญาติคนไข้ลวนลามผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 15 ราย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บ 58 ราย

           แม้ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการ 7 ข้อ สำหรับป้องกันเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ซึ่งมาตรการหลักก็คือ การให้เพิ่มเติม “ประตูนิรภัย” แบบล็อกได้ทันที และสื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อลดความกังวล แต่ก็ดูเหมือนมาตรการ 7 ข้อนี้ ยังไม่มีการดำเนินใช้ตามสถานโรงพยาบาลอย่างแท้จริง

 สำหรับ มาตรการดูแลห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลมี 7 ข้อ คือ

1.ทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ

2.จัดระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง

 3.จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ จำกัดการเข้าออก

4.ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง

5.จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล

6.จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

7.จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่

ต้องขอฝากไปยังกลุ่มวัยรุ่นหัวร้อนอีกทีว่า ทุกประเทศทั่วโลก หรือแม้แต่ในสมรภูมิสงครามยังให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย แต่ในบ้านเรา โรงพยาบาลกลายเป็น “พื้นที่เสี่ยงภัย”

ชมผ่าน YouTube ได้ที่   https://youtu.be/FLVUE7aFynk