logo ถกไม่เถียง

สปสช. ยัน ปชช.ยังรักษาโควิดฟรี แม้ถอดออกจากโรคฉุกเฉิน หากอาการวิกฤต เข้ารพ.ไหนก็ได้ #ถกข่าวร้อน

ถกไม่เถียง : กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างฮือฮากับกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป หรือการให้บริการเจ็บ โควิด,รักษาฟรี,สปสช,โรคฉุกเฉิน

451 ครั้ง
|
14 ก.พ. 2565

       กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างฮือฮากับกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ภายในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า อาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชนหรือไม่

          ก่อนหน้านี้ เจ้ากระทรวงหมอ อย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่า จะไม่เกิดผลกระทบกับประชาชน รัฐบาลยังให้การดูแลตามสิทธิ์ ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ รัฐจะเป็นผู้จ่ายให้ ยกเว้นว่าประชาชนต้องการรับบริการที่นอกเหนือจากนี้ เช่น จะเข้าโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องจ่ายเอง

        “ทีมงานถกข่าวร้อน” ได้สอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อชื่อดัง นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี บอกกับ “ทีมงานถกข่าวร้อน” ว่า เรื่องนี้อาจจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในบางกลุ่ม และจะกระทบโดยตรงในเรื่องของการตามสิทธิ์ของตัวประชาชนที่จะต้องเข้าไปรักษาตามโรงพยาบาลที่ตัวเองสังกัด ซึ่งหากสถานการณ์ระบาดและความร้ายแรงของตัวไวรัสยังไม่รุนแรงก็ยังไม่มีอะไรน่ากังวล แต่หากตัวไวรัสโควิดอาจจะสามารถกลับมาพัฒนาความร้ายแรงเหมือนตอนที่เกิดสายพันธุ์เดลต้า ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แม้ตอนนี้ตัวไวรัสโอมิครอน จะยังไม่มีความรุนแรงมากเท่าใดนัก แต่ก็อาจจะกลับมาพัฒนาของโรคที่อาจจะร้ายแรงขึ้นได้ หากมีประชาชนติดเชื้อจำนวนมาก ตัวไวรัสอาจจะพัฒนาความร้ายแรงของตัวเองขึ้นได้ หากวิเคราะห์กันตามทฤษฎี ฉะนั้น มาตรการยกเลิกโควิดออกจากบริการยูเซ็ป ก็อาจจะดีในกรณีที่ไวรัสไม่รุนแรง แต่หากในอนาคตตัวไวรัสอาจกลายพันธุ์เพิ่มความรุนแรงได้ จึงอยากให้รัฐบาลวางแนวทางให้โควิดกลับมาอยู่ในความการบริการแบบยูเซ็ป เพื่อความสะดวกในการเข้ารักษาของประชาชน

            ส่วนทางด้านของเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี บอกว่า การถอนโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤติ ไม่ได้หมายความว่า "หมดสิทธิรักษาฟรี” ยืนยันประชาชนยังได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม เพียงแค่กลับมาเข้าช่องทางการรักษาตามปกติ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ไปรับบริการได้หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

         ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจหลักการระบบสาธารณสุขของไทยก่อนคือ 1.เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และ 2.หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งกรณีของโควิด-19 นั้นตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าการป่วยเป็นโรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า มีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

         แต่ ณ ปัจจุบัน สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ดังนั้นหากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม

"ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว

        นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ซึ่งเมื่อโรคโควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่าผู้ป่วยสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลประเภทนี้ได้ แต่หากต่อจากนี้ไปโรคนี้ไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่างๆจะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้

          นพ.จเด็จ ย้ำว่า การจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้นให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆจะตามไปดูแลให้

          "สรุป ประชาชนถ้าป่วยด้วยโรคโควิด-19 หากไปเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลแล้ว"นพ.จเด็จ กล่าว

ชมผ่าน YouTube ได้ที่   https://youtu.be/0YR7R5rpboY