เกษตรกรขิงเข็กน้อย ร้องเรียน ราคาขิงตกต่ำ เหลือ ก.ก.ละ 4 บาท จากเดิม 25 บาท หนี้ท่วมกันเป็นแถว เผยน้อยใจพืชผลจากต่างประเทศตัดราคา พร้อมไร้หน่วยงานดูแล เหตุปลูกที่สูงไม่มีเอกสารสิทธิ์ร้องเรียน
วันที่ 10 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม นำโดย นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ. คนที่ 1 รับหนังสือร้องเรียนจาก นายชาตรี วรฉัตรคีรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข็กน้อย ในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกขิงเข็กน้อย ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ จากปัญหาราคาขิงตกต่ำ
โดย นายชาตรี กล่าวว่า ขิงในประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นขิงที่มีมูลค่าการส่งออกสูงพอสมควร แต่ละปีมียอดการส่งออกเป็น พันล้านบาท แต่วันนี้วิกฤตมาก เหลือ ก.ก.(กิโลกรัม) ละ 4 บาท จากเดิมอยู่ที่ ก.ก.ละ 25 บาท ซึ่งเป็นราคาของเกรดเอส่งออกเท่านั้น ส่วนขิงที่ไม่สามารถส่งออกได้ก็ไม่มีใครอยากซื้อ ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ เกษตรกรต้องเป็นหนี้ หากยังเกิดสภาวะแบบนี้ โอกาสที่เราจะลืมตาอ้าปากเท่าเทียมองค์กรอื่นลำบากมาก
จึงอยากขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เกษตรกรชาวนา ชาวไร่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่วันนี้กระดูกสันหลังของชาติหักหมดแล้ว เราในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกขิงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รู้สึกน้อยใจที่เกิดมาบนเขาบนดอย เพราะวันนี้เกิดความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่างราคาขิงที่ตลาดไท ก.ก.ละ 30 กว่าบาท ขิงที่ส่งออกต่างประเทศแค่ขีดสองขีดหลักร้อยบาท นี่คือความแตกต่างเหลื่อมล้ำที่เกษตรกรมีความลำบากใจ
ด้าน นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ขิงมีประโยชน์ช่วยป้องกันโควิด-19 เป็นสินค้าที่ปลูกโดยกลุ่มชาติพันธ์ที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ปัญหาใหญ่คือพื้นที่ปลูกขิงมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 – 700 เมตร ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีการจดทะเบียน เวลาราคาตกต่ำต้องแก้ปัญหาจะไม่มีเอกสารไม่มีข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้ ให้หน่วยงานศึกษาหาข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับตลาดในประเทศ ส่วนการส่งออกต่างประเทศ ควรมีข้อแนะนำเกษตรกรว่าต้องปลูกจำนวนเท่าไหร่อย่างไร และต้องศึกษาว่าขิงในประเทศต้องไม่ถูกพืชผลทางการเกษตรต่างประเทศ เข้ามาตัดราคาในประเทศไทย