ส.ป.ก. โพสต์แจงปม ทิดสมปอง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ชัยภูมิ 300 ไร่ พบ 1 แปลงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เจ้าของที่ปลูกหมากและมะพร้าว ตามสิทธิที่ได้รับอนุญาต
วันที่ 8 ก.พ.2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” โพสต์ข้อความระบุว่า กรณี อดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตโต หรือ นายสมปอง นครไธสง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในท้องที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา หรือให้ญาติถือครองที่ดินแทน นั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอชี้แจงว่า พื้นที่ที่เป็นข่าวเดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม (E) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 538 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 81 วันที่ 10 ก.ค.2516
โดย ส.ป.ก. ได้รับที่ดินมาและมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อ.คอนสาร อ.หนองบัวแดง กิ่งอ.ภักดีชุมพล อ.หนองบัวแดง อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.แก้งคร้อ และอ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2531 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 241 ลงวันที่ 31 ธ.ค.2531 ซึ่งเป็นการประกาศให้อ.คอนสารเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ
จากนั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ (ส.ป.ก.ชัยภูมิ) จึงได้เข้าดำเนินการสำรวจรังวัดที่ดินเมื่อปี2532 และ 2537 เพื่อให้ได้ขอบเขตเนื้อที่ของแปลงที่ดินแต่ละแปลงและรายชื่อผู้ครอบครองที่ดิน ต่อมาในปี 2539 ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำ ผักหนาม (E) จ.ชัยภูมิ ในส่วนที่ยังเป็นป่าออกจากเขตปฏิรูปที่ดินตามบันทึกข้อตกลงเพื่อกันคืนพื้นที่ป่า ออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน (RF) พ.ศ.2538 ออกมาได้เป็น 2 แปลง คือ RF แปลงที่ 15 เนื้อที่ประมาณ 10,997 ไร่ และ RF แปลงที่ 20 เนื้อที่ประมาณ 4,223 ไร่
เมื่อทราบข่าว ส.ป.ก. ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.ชัยภูมิ ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ชัยภูมิ ได้ลงพื้นที่เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้สืบหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งผู้ปกครองท้องที่และราษฎรในพื้นที่เกี่ยวกับตำแหน่งและขอบเขตของแปลงที่ดินเทียบกับแผนที่แนวเขตปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งตรวจสภาพการทำประโยชน์ในแปลงที่ดินที่เป็นข่าวแล้ว
พบว่า ที่ดินส่วนใหญ่อยู่นอกเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และมีเพียง 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และเกษตรกรผู้ซึ่งได้รับอนุญาตฯ ยังคงทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองโดยการปลูกหมากและมะพร้าว ทั้งนี้ ส.ป.ก. ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงเดินหน้าตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปจากข้อมูลการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน หนังสือร้องเรียน สายด่วน ส.ป.ก. และการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง
+ อ่านเพิ่มเติม