ผอ.สำนักงานอุทยานแห่งชาติ แจงปมนักท่องเที่ยวตกค้างที่ถ้ำนาคามากกว่าปกติ พบมีการเรียกรับเงินก่อนถอด ไกด์-เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เกี่ยวข้อง วอนนักท่องเที่ยวจองคิวผ่าน QuaQ
วันที่ 7 ก.พ. 2565 นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีที่มีนักท่องเที่ยวตกค้างจำนวนมาก ที่ ถ้ำนาคา ภายในอุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยให้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯได้สั่งการให้ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) ที่ 10 (อุดรธานี) ซึ่งรับผิดชอบในเขตอุทยานฯภูลังกา รายงานข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
ด้าน ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ.ที่ 10 รายงานว่า พบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องในหลายประเด็น เนื่องจากมีไกด์นำเที่ยว อาสาท้องถิ่นบางส่วน มีการเรียกรับเงินกับนักท่องเที่ยว รายละ 300-1,500 บาท โดยเปิดให้จองผ่านเฟซบุ๊กของไกด์เหล่านี้ ไม่ได้จองผ่านระบบ QuaQ ของกรมอุทยานฯ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเกิน 500 คน นอกจากนี้เหตุที่มีนักท่องเที่ยวมากเกินปกติ เพราะว่า นักท่องเที่ยวบางส่วนมีความเชื่อเรื่องเสาร์ 5 จึงแห่ขึ้นไปกราบไหว้บริเวณถ้ำนาคา
ขณะที่ นายดำรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยนักเที่ยวจองผ่านไกด์ท้องถิ่น เบื้องต้นทางกรมอุทยานฯ ได้สั่งถอดไกด์นำเที่ยว และเจ้าที่อุทยานฯที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจำกัดนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าด่านทั้งหมดแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ชุดใหม่เข้ามาดูแลแทน อักทั้งยังพบว่ามีการปล่อยนักท่องเที่ยวขึ้นไปถ้ำนาคาเกินเวลา 14.00 น. ซึ่งการเดินขึ้น-ลง ถ้ำนาคาใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงจึงไม่ควรปล่อยให้มีนักเที่ยวขึ้นไปเกินเวลา นอกจากนี้ ทาง สบอ.ที่ 10 มีการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหนกระทำผิด ก็จะดำเนินการลงโทษตามระเบียบของกรมอุทยานฯ
นายดำรัส เปิดเผยเพิ่มอีกว่า วันที่ 8 ก.พ. นี้ สบอ.ที่ 10 จะร่วมประชุมกับทางจังหวัด ส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ทั้งนี้ทาง กรมอุทยานฯ ขอเน้นย้ำในการท่องเที่ยวอุทยานฯทั่วระเทศนั้น ได้มีการศึกษาการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่แล้ว ทางด้าน จังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ไกด์อาสาท้องถิ่น ก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ ว่าปัจจัยสำคัญคือการดูแลรักษาธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม แม้จะอยากกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดไหนขนาดไหนก็ตาม
“วันหนึ่งหากเกิดความเสียหายมันจะยากเกินกว่าจะเยียวยาได้ สุดท้ายก็ต้องมีการปิดอุทยานฯ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู อย่างที่ถ้ำนาคา เราจำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละ 500 คน เนื่องจากทางเดินขึ้น-ลง ในบางจุดไม่สามารถเดินสวนทางกันได้ และไม่สามารถขยายเส้นทาง เพราะจะไปกระทบต่อธรณีวิทยา ขอย้ำว่ากรมอุทยานฯ เราไม่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ต้องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามขอให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จองผ่าน QuaQ ของกรมอุทยานฯ เพื่อที่จะสามารถจำกัดนักท่องเที่ยวได้ ไม่ให้เกิดความแออัดในพื้นที่ด้วย”