ตายายเจ้าของที่ดินตาบอดครวญ ตนเองมีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 15 ไร่ แต่ที่กลับถูกปิดตาย มีการสร้างหมู่บ้านล้อมรอบ ไร้หนทางเข้าออก สุดท้ายต้องใช้วิธีปีนรั้วข้ามกำแพง ทั้งยังไม่อนุญาตให้ต่อไฟฟ้าใช้ ทำให้ตลอด 30 กว่าปี ที่ผ่านมา ตายายเหล่านี้ต้องอยู่แบบไม่ไม่น้ำไม่มีไฟใช้ เคยจ้างทนายต่อสู้ให้หมู่บ้านที่ก่อสร้างภายหลังเปิดทางเข้าออกให้ แต่ผลการต่อสู้ไม่ได้เหมือนที่หวัง ตายายแพ้คดี ต้องก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตปีนรั้วเข้าออกเหมือนเฉกเช่นที่ผ่านมา
วันที่ 27 ธ.ค.64 ถนอม เชื้อเพ็ชร์ พร้อมด้วย สรศักดิ์ เชื้อเพ็ชร์ , สาลี่ เชื้อเพ็ชร์ และ วิชิต หงยาว เจ้าของที่ดินตาบอด ร้องเรียนผ่านรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ หลังถูกนายทุนปิดล้อมบ้าน ไร้ทางเข้าออก ว่าครอบครัวตนเองอาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว มีโฉนดที่ดินถูกต้องทุกอย่าง เมื่อก่อนเป็นทุ่งนา เข้าออกทางไหนก็ได้ ต่อมาเมื่อความเจริญเข้ามา มีการสร้างหมู่บ้านล้อมรอบที่ดินของตายาย สร้างกำแพงล้อมรอบ บ้านของเรากลายเป็นที่ดินตาบอด จะเข้าออกจากบ้านต้องอาศัยปีนกำแพงเข้าออก น้ำไฟก็ไม่มี เพราะถูกหมู่บ้านให้มาถอดสายไฟและเสาไฟที่ต่อเข้าบ้านตายายออก เพราะไม่ต้องการให้มีสายไฟจากหมู่บ้านไปยังที่ดินของตายาย ตอนนี้ในบ้านมีคนอาศัยอยู่กันแค่ 2 คน เหตุเพราะคนอื่นๆ ปีนเข้าออกบ่อยจนเป็นการสร้างความรำคาญให้คนในหมู่บ้าน จึงต้องออกไปอาศัยที่อื่นแทน มีเพียงพี่สาว 2 คน ที่ยังอยู่ที่นั่น นานๆ ก็จะเข้าไปดูแลทั้งคู่สักที และเพราะไม่มีน้ำไม่มีไฟใช้ ทำให้ต้องใช้ตะเกียง ใช้เทียนแทน อยู่แบบนี้มากว่า 30 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา การไฟฟ้าติดต่อเดินไฟเข้าบ้านให้ โดยปักเสาไฟฟ้าในที่ตายาย จากนั้นประมาณ 5 วัน การไฟฟ้าแจ้งมาว่า จะเข้ามาถอนเสาไฟฟ้าออก เนื่องจากมีการร้องเรื่องสายไฟพาดผ่านไปในหมู่บ้าน
นอกจากนี้ พื้นที่รอบบ้านก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำเน่าเสีย เมื่อยามฝนตกหรือแม้แต่น้ำที่ปล่อยมาจากหมู่บ้านล้อมรอบ สิ่งที่ตายายทำได้ ก็คือการใช้สองมือ ใช้แรงงาน ขุดดินให้เป็นบ่อเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังเข้าตัวบ้าน เวลาปลูกต้นไม้ ก็เจอน้ำท่วมตาย เพราะพอฝนตกน้ำก็ท่วม ต้องรอน้ำแห้งไปเอง
จะดูดน้ำออกปล่อยลงท่อระบายน้ำก็ไม่ได้ เพราะหมู่บ้านไม่อนุญาตให้ทำ หากไม่สบายก็ต้องปีนกำแพงออกจากบ้านไปหาหมอ แต่จะออกเฉพาะช่วงกลางวัน เพราะกลางคืนมืดมาก เวลาปีนข้าม หมาก็ชอบเห่า ไม่อยากรบกวนชาวบ้าน ที่ตัดสินใจออกมาร้องตอนนี้ หลังอดทนมานานกว่า 30 ปี เพราะอายุมากขึ้น แข้งขาก็ไม่ดี ไม่มีแรงจะปีนเหมือนเมื่อก่อน ก็อยากจะขอความเป็นธรรม ให้มีทางเข้าออก มีน้ำมีไฟใช้เหมือนคนอื่นบ้าง อยากมีท่อระบายน้ำเน่าออกไป
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมไม่ขายที่ ยอมรับว่ามีคนมาติดต่อมาขอซื้อที่เหมือนกัน แต่ไม่ยอมขายเพราะเกิดมาตรงนี้ ก็อยากจะอยู่ตรงนี้ มันเป็นที่ของบรรพบุรุษ อยากอยู่จนตาย มันผิดด้วยเหรอที่ไม่อยากขาย สำหรับข้อมูลราคาที่ดินของตายาย พบว่าบริเวณโดยรอบประเมินที่ดินเป็นตารางวาละ 7 หมื่นบาท หรือไร่ละ 28 ล้านบาท (ในกรณีที่ไม่ใช่ที่ดินตาบอด) แต่กรณีนี้เมื่อเป็นพื้นที่ตาบอด นายหน้าที่ติดต่อขอซื้อที่ดินให้ตารางวาละ 7 พันบาท หรือไร่ละ 3 ล้าน 5 แสนบาท ซึ่งราคาน้อยกว่าราคาที่ดินโดยรอบ 24 ล้าน 5 แสนบาท ตั้งคำถามว่าเป็นการบีบให้ขายที่ทางอ้อมหรือไม่
ฟาก นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า ต้องยอมรับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะอยู่กลางกรุงแท้ๆ แต่กลับไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้าใช้ คนแก่ต้องปีนข้ามกำแพงเกือบสองเมตรเพื่อเข้าออกจากบ้าน และรอบบ้านก็เต็มไปด้วยน้ำเน่าขัง ถ้าเกิดเจ็บป่วยมาจะทำยังไง ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการร้องเรียน เราจึงประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางการไฟฟ้าได้ไปต่อสายไฟให้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ส่วนประปาก็พยายามคุยกันอยู่ เขาบอกว่ามันยังติดขัดพื้นที่ข้างเคียง เรามองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปดูแลเรื่องนี้ ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และทางสาธารณะ อย่างกรณีนี้เราสามารถระบุได้เลยว่าสิทธิเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเขาโดนกระทบ รัฐบาลต้องเข้าไปดูว่าใครเป็นคนละเมิดสิทธิตรงนี้
ในเรื่องของกฎหมายนั้น ดร.กิตติมา สิริศุภชัย กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (สภาทนายความ) เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ดินนี้เป็นที่ดินที่อยู่ด้านใน ถูกล้อมด้วยที่ดินแปลงของผู้อื่น การเข้าออกต้องปีนข้ามกำแพง ทำให้เกิดความไม่สะดวก ซึ่งตามกฎหมาย ให้สิทธิความจำเป็นที่ต้องใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะ ในกรณีที่เป็นที่ดินเอกชนให้สิทธิที่ว่าเปิดทางจำเป็นเราต้องคำนึงถึงความเสียหายน้อยที่สุดว่าอยู่ตรงจุดไหน ในกรณีที่เปิดทางซึ่งจะต้องใช้ที่ดินของผู้อื่น บางทีทางจำเป็น อาจจะต้องมีการจ่ายค่าทดแทน หรือ ค่าผ่านทาง ให้กับเจ้าของที่ดิน กรณีนี้ก็ต้องมาดูกันว่าค่าทดแทนที่น้อยที่สุดอยู่ที่เท่าไหร่ ทางที่ดีที่สุด คือต้องเปิดทางที่เขาใช้ปีนเข้าออก ทางนี้มันเป็นแค่กำแพงที่ล้อมไว้เท่านั้น พอออกไปมันจะนำไปสู่ทางหนีไฟ เป็นทางที่เขาใช้ในหมู่บ้าน ป้าจะได้ใช้ทางเดียวกันกับลูกบ้าน เพราะยังไงก็เป็นทางที่เขาใช้กันอยู่แล้ว มันน่าจะเป็นทางออกที่เสียหายน้อยที่สุด
ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นหลังดูคำพิพากษาซึ่งไปถึงชั้นฎีกาแล้ว ก็สรุปไปตามคำพิพากษา เราไม่มีสิทธิจะไปเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลได้ แต่ทีนี้จะไปดูว่าจะมีส่วนไหนที่กระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปช่วยเหลือได้บ้าง การขอใช้ทาง ต้องดูว่ามีประเด็นไหนบ้างที่จะเป็นเรื่องใหม่ ที่จะไปร้องต่อศาลใหม่อีกครั้งได้ เพราะตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเขาฟ้องในประเด็นใดบ้าง ต้องให้ฝ่ายกฎหมายช่วยดูอีกครั้ง สำหรับที่ดินตาบอด อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีทางออก ซึ่งทางผมจะขอลงไปดูในพื้นที่เองเพื่อดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ยืนยันว่า ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภค หรือทางสาธารณะ อาจจะต้องไปดูสารระบบของกรมที่ดินว่าทางเมื่อก่อนเป็นอย่างไร ทางเท้าทางที่ดินเป็นอย่างไร สมัยก่อนก็จะมีเหมือนกัน ทางวัวทางควายเดิน อยู่ๆในเวลาต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการถมที่ดิน เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ ต้องนำมาพิจารณากันอีกครั้ง
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง
hitz955.com
+ อ่านเพิ่มเติม