ตายายเจ้าของที่ดินตาบอดสุดช้ำ ถูกนายทุนสร้างหมู่บ้านล้อมรอบที่ดิน ทำให้ถูกปิดตายไร้ทางเข้าออก ต้องใช้วิธีปีนรั้วข้ามกำแพง ทั้งยังไม่อนุญาตให้ต่อไฟฟ้า-ต่อน้ำใช้ เคยจ้างทนายต่อสู้แต่ผลไม่ได้เหมือนที่หวัง ตายายแพ้คดี ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม พบมีนายหน้าตบเท้าขอซื้อที่ดินต่อในราคาถูก ตั้งคำถาม เป็นแผนบีบให้ขายที่หรือไม่
ถนอม เชื้อเพ็ชร์ เจ้าของที่ดินตาบอด เผยว่า ที่ดินผืนนี้อยู่เขตบางเขน ปัจจุบันยังพักอาศัยอยู่ ซึ่งตนมีสำเนาโฉนดที่ดินยืนยันว่าตนมีสิทธิ์อยู่บนผืนดินนี้มาร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งคุณตา คุณยายอยู่บนที่ดินนี้มาจนมารุ่นคุณแม่ จนตกมาถึงรุ่นเราเป็นรุ่นที่ 3 โดยก่อนหน้านี้พื้นที่แถวนี้เป็นที่นา เริ่มมามีปัญหาในช่วงหลังๆ ตรงที่มีการสร้างหมู่บ้าน มีการก่อกำแพงปิดพื้นที่หมด ตอนแรกก็ก่อกำแพงขึ้นทีละข้าง จนหาทางออกบ้านไม่ได้ ต้องใช้บันไดไม้ปีนเข้าปีนออก
นอกจากนี้ไฟฟ้าและน้ำประปาก็ไม่มีใช้เป็นเวลากว่า 20 ปี โดยอาศัยเพียงแสงไฟจากตะเกียงน้ำมัน ต้องใช้โอ่งรองน้ำฝนเพื่อใช้ในครัวเรือน เวลาเจ็บป่วยก็ต้องปีนแล้วก็เดินออกมาไปหาหมอ ตกกลางคืนก็ไม่ออกจากบ้าน ต้องรีบเข้ารีบออกเพื่อไม่ให้รบกวนชาวบ้านแถวนั้น ตอนนี้ทนไม่ไหวแล้วเพราะสุขภาพและอายุมากขึ้น เลยมาร้องเรียนขอทางเข้าทางออกให้ชีวิตดีขึ้น อยากได้น้ำและไฟเพื่อให้ชีวิตสะดวกขึ้น เคยไปขอเจ้าของที่ดินแล้วเขาก็อ้างกฎหมาย อ้างสิทธิ์ซึ่งตนไม่รู้ข้อกฎหมายจึงทำอะไรต่อไม่ได้
สาลี่ เชื้อเพ็ชร์ เจ้าของที่ดินตาบอด เผยว่า ปัจจุบันได้ย้ายออกจากที่ดินตรงนี้แล้วเพราะไม่อยากปีนเข้าปีนออก เป็นการรบกวนคนในหมู่บ้านและสร้างความลำบาก หวั่นอันตราย ด้วย ทุกวันนี้ก็หมั่นกลับมาดูแลบ้านบ้าง ล่าสุดมีการเดินสายไฟกลับมาบ้านแล้ว แต่ก็ดีใจได้พักเดียวก็ได้ข่าวว่าเจ้าของที่ดินของหมู่บ้านให้ถอนสายไฟออกเนื่องจากสายไฟฟ้าที่เดินสายมาไปผ่านในที่ดินของเขา พอมีสายไฟเข้ามา เขาก็ก่อกำแพงสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้ลำบากหนักไปอีก ซึ่งเหตุผลที่ไม่ยอมขายที่ดินตรงนี้เพราะเกิดตรงนี้ เป็นที่ดินของบรรพบุรุษให้ไว้ อยากอยู่จนวันที่เราตาย เราไม่มีความผิดอะไรที่อยากอยู่ตรงนี้ ไม่คิดขายที่ตรงนี้เด็ดขาด มีนายหน้ามาติดต่อซื้อที่ดินตรงนี้ แต่ก็ไม่อยากขาย ทุกวันนี้เพียงอยากขอแค่ให้ใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนอื่นได้
วิชิต หงยาว เจ้าของที่ดินตาบอด เผยว่า ตนเคยอยู่ในที่ดินผืนนี้ด้วย เวลาฝนตกน้ำขังก็กลายเป็น น้ำเน่า เพราะน้ำมันไม่มีทางออก ถ้าวันไหนฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมเคยท่วมสูงเป็นเมตร ถึงขนาดต้องสร้างเรือขึ้นมาใช้ในนั้นเลย ซึ่งตนอยากได้ทางเข้าทางออกและอยากให้มีการระบายน้ำเน่าออกจากพื้นที่ มีน้ำไฟเหมือนกับคนอื่น ยืนยันว่าจะไม่ขายที่ดินตรงนี้ เพราะเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่สมัยก่อนก็อยู่สบาย พอมีการสร้างหมู่บ้านมาก็เดือดร้อน โดยฝ่ายตนมีการเสียภาษี มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินอย่างถูกต้อง
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า ได้มีการลงพื้นที่ตรงนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากว่าเป็นพื้นที่กลางกรุงและคนอายุ 60-70 ปี ต้องมาปีนเข้าปีนออกกำแพงสูงกว่า 2 เมตร มันเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ซึ่งกรณีนี้ยาวนานมากว่า 30 ปี โดย ทาง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจึงได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ในบางส่วนยังมีการติดขัดอยู่ โดยจะมีการติดตามกับทางเขตต่อไป เพราะเรื่องการเข้าถึงสาธารณูปโภคเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐ
"ประชาชนมีสิทธิ์จะเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และรัฐจะต้องจัดให้มี จัดให้ทุกคนเข้าถึง เมื่อเข้าไม่ถึงรัฐก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยในทางกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินตาบอดก็มีประเด็นเรื่องของทางจำเป็น ที่สามารถเปิดทางตาบอดให้เข้าถึงทางสาธารณะได้" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
ดร.กิตติมา สิริศุภชัย กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (สภาทนายความ) เผยว่า ที่ดินตรงนี้ถูกล้อมด้วยที่ดินแปลงของผู้อื่น ต้องปีนเข้าปีนออกผ่านที่ดินของคนอื่น ซึ่งตามกฎหมายให้สิทธิ์เพราะมีความจำเป็นในการผ่านทางนั้นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ กรณีที่ต้องผ่านที่ดินเอกชน ก็สามารถผ่านได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องคำนึงถึงความเสียหายอย่างน้อยที่สุด ถ้ากรณีที่มีการเปิดทางในที่ดินของผู้อื่น ก็ต้องมีการทดแทนหรือจ่ายค่าทดแทนให้กับเจ้าของที่ดินนั้นด้วย แต่ก็ต้องหาทางเสียค่าทดแทนให้ได้น้อยที่สุด โดยจากการลงพื้นที่พบว่าหากทุบกำแพงที่ปีนเข้าปีนออกตรงนั้นก็จะเป็นการเปิดทางให้กลายเป็นทางจำเป็นเข้าออกได้ นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด ของกรณีนี้ สามารถฟ้องร้องเพื่อให้ดำเนินการได้
ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยว่าปัจจุบันคดีนี้ได้อยู่ถึงศาลชั้นฎีกาแล้ว ก็ต้องเคารพการตัดสินของศาลที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณคดี พบว่ามีอีกทางหนึ่งที่เป็นเส้นทางเข้าออกแต่อาจไม่สะดวก โดยขณะนี้ได้กำลังหาประเด็นที่จะร้องขอต่อศาลเพิ่มเติม และจะให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาช่วยเหลือ จึงอยากให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนนำมาส่งให้ทางกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือได้ ส่วนเรื่องของทางจำเป็น มีความเป็นไปได้ โดยจะขอลงพื้นที่จริงเพื่อให้ได้เห็นสถานที่จริงด้วย และขอตรวจสอบเอกสาร สิทธิต่างๆให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง เพื่อหาหนทางช่วยเหลือให้ได้รับกระทบกันแต่ละฝ่ายน้อยที่สุด หรือความเป็นได้ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงๆ อาจต้องไปรื้อดูทั้งระบบเกี่ยวกับทางผ่านและที่ดินเลยทีเดียว ต้องดูทั้งสารระบบเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สรุปผลโพล คุณคิดว่า ตายายจะได้ทางเข้าออกหรือไม่?
ถกไม่เถียง
ทิน โชคกมลกิจ
ตา
ยาย
เจ้าของที่ดิน
ที่ดินตาบอด
นายทุน
หมู่บ้าน
บีบขายที่
ไร้น้ำไฟ
มนุษยธรรม
ปีนรั้ว
ทางเข้าออก
กรมที่ดิน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
แพ้คดี