ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.), พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วย นายคณาวัฒน์ วงศ์แก้ว ผู้แทนคณะทำงานเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนจากคลิปวิดีโอ (VDO) ของวุฒิสภา, นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.91 และ สถานีวิทยุ จส.100 ร่วมแถลงผลการระดมบังคับใช้กฎหมายจราจรเข้มข้น และเปิดโครงการ “อาสาตาจราจร” โดยมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้กับผู้ส่งภาพหลักฐานที่ได้รับคัดเลือก
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากเห็นการจัดระเบียบการจราจรที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ตน ในฐานะ ผอ.ศจร.ตร. กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยเน้นกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิดใน 4 ข้อหาสำคัญ ได้แก่ 1.ขับรถย้อนศร 2.ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3.ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และ 4.ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว และหากพฤติการณ์การกระทำผิดตามข้อหาดังกล่าว มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป จะมีการดำเนินคดีเพิ่มในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท และต้องยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล พร้อมทั้งมีคำร้องขอให้ศาลริบรถของกลาง
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เผยอีกว่า ศจร.ตร. ได้เริ่มมาตรการดังกล่าว ตั้งแต่ 15 พ.ย. 64 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้มีการระดมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นครั้งแรกในวันที่ 15 - 24 พ.ย. 64 รวม 10 วัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิด ดังนี้
1.ขับรถย้อนศร 20,671 ราย แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ทั่วไป 17,469 ราย รถจักรยานยนต์ดิลิเวอรี 2,283 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 919 ราย
2.ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 8,748 ราย แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ทั่วไป 6,914 ราย รถจักรยานยนต์ดิลิเวอรี 1,494 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 340 ราย
3.ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า 2,870 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 1,892 ราย รถจักรยานยนต์ดิลิเวอรี 669 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 309 ราย
4.ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว 600 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 590 ราย รถจักรยานยนต์ดิลิเวอรี 9 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 1 ราย
รวมผลการดำเนินการทั้ง 4 ข้อหา จับกุมรวมทั้งสิ้น 32,889 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 26,865 ราย รถจักรยานยนต์ดิลิเวอรี 4,455 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 1,596 ราย
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีในข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยอีก 54 ราย ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับจำนวน 41 คดี ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษ และสั่งริบรถจักรยานยนต์ตกเป็นของแผ่นดินอีกหลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีการจัดทริป “น้ำไม่อาบ” ของ ภ.จว.เพชรบูณ์ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี และริบรถจักรยานยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุด้วย
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ศจร.ตร. ได้ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ, สวพ.91 และ จส.100 ในการทำโครงการ “อาสาตาจราจร” โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนร่วมกันทำหน้าที่พลเมืองดีในการตรวจตราการกระทำผิดฎหมายจราจร โดยเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ หรือคลิปจากโทรศัพท์มือถือ ที่บันทึกเหตุการณ์การทำผิดกฎจราจรที่สำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนโดยส่วนรวม ส่งคลิปมายัง 4 ช่องทาง ได้แก่ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร., สวพ.91, จส.100 และ เพจมูลนิธิเมาไม่ขับ โดย ศจร.ตร. จะรวบรวมข้อมูลส่งต่อไปยังสถานีตำรวจพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนส่งคลิปการกระทำผิดกฎจราจรมายัง ตร. รวมทั้งสิ้น 36 คลิป คลิปที่สำคัญ เช่น คลิปรถจักรยานยนต์ขับรถย้อนศรบนทางด่วนบูรพาวิถี ซึ่งจากคลิปดังกล่าว ตร. ได้สืบสวนไปยังผู้ครอบครองรถ จนสามารถติดตามผู้ขับขี่ในวันเกิดเหตุมาดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย โดยดำเนินคดี 6 ข้อหา หรือคลิปรถกระบะบรรทุกสิ่งของเต็มคันรถ จนเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทางบนทางหลวงหมายเลข 3701 พื้นที่ สภ.หนองขาม ได้ติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยดำเนินคดี 2 ข้อหา
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 2 คลิปข้างต้น มูลนิธิเมาไม่ขับ, สวพ.91 และ จส.100 และคณะทำงานเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนจากคลิปวิดีโอ (VDO) ของวุฒิสภา ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคลิปตัวอย่างของการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และภาพจากคลิปเป็นพยานหลักฐานสำคัญให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงมอบเงินรางวัลให้กับเจ้าของคลิปเป็นเงินจำนวนคลิปละ 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรจาก ศจร.ตร. และ คณะทำงานเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนจากคลิปวิดีโอ (VDO) ของวุฒิสภา