วันที่ 9 พ.ย.64 พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถามถึงปัญหาราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยยอมรับว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นจาก 25 บาท/ลิตร มาเป็นราคา 30 บาท/ลิตร กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น มาจาก 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
โดยขณะนี้ได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เข้ามาพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้าไปดูแล และขอความร่วมมือให้ผู้ขายลดค่าการตลาดลง แม้ว่าการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันจะเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีก็ตาม ทั้งนี้ หากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เพียงพอจะจัดหาแหล่งทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ ได้
ส่วนข้อเสนอลดปริมาณสัดส่วนผสม หรือยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในเน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ เรื่องนี้เป็นนโยบารัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดฝุ่นละออง ช่วยรักษาเสถียรภาพพืชผลเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง รวมถึงลดการพึ่งพานำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ดังนั้นหากลดปริมาณสัดส่วนผสมอาจกระทบเศรษฐกิจต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ แต่หากคงไว้จะสร้างเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังนั้นการยกเลิกเวลานี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สอดคล้องนโยบายรัฐ และหลายพรรค หลายกรรมาธิการที่มีจุดยืนสนับสนุน แต่การลดสัดส่วนอาจพิจารณาตามความจำเป็นในระยะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับก๊าซหุงต้ม ยอมรับว่าเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หน่วยงานของรัฐบาลได้ประสานและตรึงราคา รวมถึงช่วยประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการช่วยลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวจะใช้เงินราว 4,200 ล้านบาทต่อเดือน
+ อ่านเพิ่มเติม