มท.สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือฝนถล่ม-น้ำท่วมฉับพลัน จากพายุโกนเซิน
logo ข่าวอัพเดท

มท.สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือฝนถล่ม-น้ำท่วมฉับพลัน จากพายุโกนเซิน

ข่าวอัพเดท : วันที่ 12 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม มีควา มท,รับมือ,น้ำท่วม,พายุ,โกนเซิน

1,701 ครั้ง
|
13 ก.ย. 2564
วันที่ 12 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรง โดยจะทำให้ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีคลื่นสูง
 
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดสั่งการไปยังทุกจังหวัด ให้เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน "โกนเซิน" (CONSON) ที่ขณะนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน โดยกำชับจังหวัดแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมแจ้งแนวทางการปฏิบัติและช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง และให้คณะทำงานของจังหวัด ติดตาม ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ได้กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เตรียมพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการทั้งส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบอาหารเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
 
“หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง