ด้วยสถานการณ์ความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้นักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบ “โครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา” เพื่อบรรเทาและลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษา เป็นวงเงินกว่า 22,000 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแลโรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลักของประเทศที่มีโรงเรียนในความรับผิดชอบมากกว่า 40,000 โรงทั่วประเทศ มีความตั้งใจที่จะเร่งส่งมอบเงินเยียวยานักเรียนนี้ ให้ถึงมือผู้ปกครองให้เร็วที่สุด แบบเต็มจำนวน 2,000 บาทต่อคน
ด้วยแรงกายแรงใจของครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำอย่างเต็มที่ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้สามารถเริ่มจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นมา
โดยในวันที่ 6 กันยายน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน ใน 4 โรงเรียนพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อให้เงินเยียวยาถึง ผู้ปกครองและนักเรียนทุกคนได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่
1.โรงเรียนวัดธรรมศาลา/สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1
2.วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม/สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
3.โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย/สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นครปฐม
4.โรงเรียนสุคนธีรวิทย์/สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
โดยผู้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาในนักเรียน กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียนทุกสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 11 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. (ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการต้นสังกัด) ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวนคนละ 2,000 บาท วงเงินรวมประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นที่ต้องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง โดย สังกัด สพฐ.,สอศ.,กศน. รับเงินตั้งแต่ 1-7 กันยายน 2564 ส่วน สช. รับเงินได้ตั้งแต่ 6-10 กันยายน 2564
กรณีบางพื้นที่อาจจะได้เงินล่าช้าบ้าง เนื่องจาก
1.นักเรียนย้ายโรงเรียนหลังวันที่ 8 ส.ค. สังกัดของ สพฐ. /สำหรับโรงเรียนเอกชน นักเรียนย้ายโรงเรียนหลังวันที่ 6 ส.ค.
2.โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล (โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร)
3.สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่นั้นๆ
สำหรับเงื่อนไขการโอนเงินให้ผู้ปกครอง มี 2 ช่องทาง 1.รับเงินโอนเข้าบัญชีผู้ปกครอง และ 2.รับเงินสดที่สถานศึกษา
นางสาวตรีนุช เทียนทอง ย้ำว่า เงินเยียวยาจำนวน 2,000 บาทนี้ต้องถึงมือผู้ปกครองทุกคนอย่างแน่นอน ขออย่ากังวลใจ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษา จะไม่มีหักเงินจากผู้ปกครอง เด็ดขาด ส่วนในเรื่องการวางแผนระยะยาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางนโยบายระยะยาว สร้างงาน สร้างอาชีพ แก้จนยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือทุกวิกฤติ
ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา และผู้เรียน ในแต่ละสังกัด สามารถตรวจสอบสิทธิได้ตามนี้
สังกัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ สำนักงาน กศน.จังหวัด/อำเภอ และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ดังนั้นหากนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง พบปัญหายังไม่ได้รับเงินเยียวยา ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ สามารถติดต่อไปยังสถานศึกษา /สำนักงานเขตพื้นที่ฯ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือจะแจ้งที่ สายด่วนการศึกษา โทร. 1579 หรือ 1693
และจนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โรงเรียนสังกัด สพฐ. ส่งถึงผู้ปกครองแล้วทั้งหมดกว่า 4,600 ล้านบาทคิดเป็น 37% โรงเรียนเอกชนส่งถึงผู้ปกครอง ได้กว่า 35 % และสถาบันอาชีวะศึกษาส่งให้ผู้ปกครองแล้วกว่า 611 ล้านบาท คิดเป็น 30% และในสัปดาห์นี้ ครู บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนทุกสังกัด จะเร่งส่งมอบเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดผลกระทบจากโควิด และสร้างความสุข สร้างรอยยิ้มให้ผู้ปกครองให้เร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมรับฟังความเดือดร้อนครูวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โครงการครูคลังสมอง สั่ง สพฐ. ต่อสัญญาครูลูกจ้างชั่วคราว 1,964 คน ก่อนสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดย น.ส.ตรีนุช ระบุ ศธ.จะช่วยเหลือครูบุคลากรไม่ทอดทิ้งใคร ทุกคนได้ต่อสัญญาจ้างแน่นอน และการต่อสัญญาจ้างนี้ก็จะทำให้ครูมีคุณสมบัติครบในการสมัครสอบบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยตาม ว 16 กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งเป็นการสอบเฉพาะกลุ่มสัญญาจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่สอนอยู่ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ไม่น้อยกว่า 3 ปี