วันที่ 16 ส.ค.2564 รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดราม่าการนำเข้า ชุดตรวจโควิด-19 ATK 8.5 ล้านชุด โดยมีผู้ร่วมรายการคือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล
จากกรณีชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอการใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK (Antigen Test Kid) ที่ตรวจแล้วทราบผลได้ทันทีในปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง แต่ต้องใช้ ATK ที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อผลที่แม่นยำ สร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอผล RT-PCR
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. เผยว่า การตั้งคำถามว่ามีการล็อคสเปคหรือไม่นั้น เป็นเรื่องไม่จริง เนื่องจาก สปสช. มีคณะทำงาน และคณะกรรมการในด้านของการต่อรองราคา ตามความเห็นชอบของอนุกรรมการ โดยได้ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่เดือน พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สปสช. จะจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งเราได้คัดเลือกกลั่นกรอง ชุดตรวจATKนี้ มาเป็นเครื่องยืนยันเพราะมีความจำเป็นต้องตรวจเป็นล้านคน
โดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการต่อรองราคาชุดตรวจนี้ที่ราคา 5 เหรียญ ซึ่งเราก็มีการต่อรองราคาเหมือนกันอยู่ที่ 3 เหรียญ หรือประมาณ 120 บาท โดยมาตรฐานความแม่นยำของชุดตรวจโควิด-19 ตัวนี้ยืนยันว่าได้รับรองมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือแน่นอน
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีการเรียกเก็บชุดตรวจนี้ในสหรัฐอเมริกานั้น ทางสปสช.ได้รับทราบรู้อยู่แล้วว่ามีปัญหา แต่ได้มีการศึกษาว่าประเทศในยุโรปใช้อย่างแพร่หลายและได้ประสิทธิภาพมาหลายปีแล้ว ตามหลักแล้วในยุโรปจะตรวจวัดเป็นระดับและ ราคาต้องไม่แพง และเหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชุดตรวจโควิด-19 ATK ที่มีคุณภาพดีที่สุด
ส่วนขั้นตอนการประมูลนั้นได้มีกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าอยากได้สเปคแบบไหน มีกฎหมายรองรับในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งไม่ใช่การล็อคสเป็ค แต่เรียกว่าเป็นวิธีเจาะจง ทั้งนี้ ระเบียบของราชการนั้นไม่เคยมีระบุว่าของถูกมันดี แต่สปสช.คำนึงถึงคุณภาพ ผ่านมาตรฐานของอย.และองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ในฐานะประธานที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท เผยว่า สำหรับชุดตรวจโควิด-19 ควรเป็นชุดตรวจ ที่ได้มาตรฐานแม่นยำ ให้เจ้าหน้าที่และแพทยท์วินิจฉัยและรักษาได้เลย ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างหนักในตอนนี้ทำให้กังวลว่าชุดตรวจโควิด-19 อาจไม่เพียงพอ รวมถึงมีกระแสข่าวว่ากำลังจะมีการลดมาตรฐานชุดตรวจที่ได้ตั้งไว้ พอข่าวออกมาจึงเกิดความไม่สบายใจและโทรไปสอบถามผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ เป็นการพูดคุยแบบปกติ ไม่ได้ข่มขู่คุกคาม หรือล็อคสเปคแต่อย่างใด แค่ถามว่ามีการลดมาตรฐานสเปคใช่หรือไม่เท่านั้น ซึ่งคลิปเสียงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์นั้น ตนไม่อยากจะพูดว่าการลดสเปคมันคือการเอื้อประโยชน์ให้ใคร แต่ขอถามว่ามันคือการเอื้อประโยชน์ใช่หรือไม่?
“เราโทรไปตามอำนาจหน้าที่ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้มีการเปิดให้ประมูล มันยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดสเปค ว่าตรงกับที่ทาง สปสช.ตั้งเอาไว้หรือไม่ แต่ไม่รู้ว่าทำไม องค์การเภสัช ถึงมีการเอาคลิปเสียงไปเผยแพร่ แถมยังมีการบิดเบือนข้อมูลว่าแพทย์ชนบทมีการล็อคสเปค ซึ่งคิดว่าหากมีการเดินหน้าจัดซื้อจริง ควรให้ ประธานชมรมแพทย์ชนบทร่วม ตรวจสอบว่าชุดตรวจได้มาตรฐานตามที่เลขา อย. บอกหรือไม่ ทั้งที่มีการวิจัยออกมาแล้ว และบางประเทศก็มีการเรียกคืนแล้ว ถึงแม้ว่าอย.จะบอกอ้างว่ามีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่เมื่อมีผลวิจัยออกมาก็น่าจะต้องอัปเดตข้อมูลหรือไม่ ” นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ กล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่า อย. จะเดินหน้าซื้อของดีราคาถูกตามที่บอกไว้ ก็ต้องมีการทดลองภาคสนามก่อน จะได้รู้ว่ามีมาตรฐานจริงหรือไม่ ซึ่งอยากให้การทดลองกับคนกลางที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข อยากให้เอาประชาชนทั่วไปมาลองตรวจ ผลลัพธ์ที่ได้นี้ตอบคำถามได้แน่ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงที่มีการเอาคลิปเสียงไปเผยแพร่นั้นได้มีการแจ้งความเอาไว้แล้ว เพราะการแอบบันทึกการสนทนากัน 2 ต่อ 2 แล้วเอาไปเผยแพร่ต่อบุคคลที่ 3 มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็คงจะปล่อยให้มันเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
สรุปผลโหวตตุณอยากได้ชุดตรวจ ATK แบบไหน?
ก.ราคาถูก คุณภาพปานกลาง ข.ราคาแพง คุณภาพดี