จากสถานการณ์การะแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนผู้ประกอบการหลายๆ รายโดนผลกระทบที่เลวร้ายกันทั่วหน้ายิ่งธุรกิจภาคกลางคืน ยิ่งเจ็บหนัก เพราะถูกทอดทิ้ง เป็น “กลุ่มแรก” ที่ถูกสั่งปิดและเป็น “กลุ่มสุดท้าย” ที่ได้เปิด ซ้ำแทบไม่ได้รับการเยียวยา
วันที่ 27 ก.ค.64 นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ผู้ประกอบการสถานบันเทิง และ ตุล ไวทูรเกียรต นักร้องวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถกไม่เถียง ออกอากาศทางช่อง7HD ถึงประเด็นที่คนกลางคืนได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดโควิด โดนปิดกิจการก่อน แต่เปิดทีหลัง ทั้งยังไม่ได้รับการเยียวยา
ตุล ไวทูรเกียรต นักร้องวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า เผยสถานการณ์ตอนนี้ เรียกว่างานที่เคยมีเกือบจะเป็นศูนย์ ตอนช่วงก่อนล็อกดาวน์ช่วงสงกรานต์ยังพอมีงานอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสประกอบอาชีพเลย ซึ่งจริงๆแล้วอาชีพกลางคืนไม่ใช่มีแต่นักดนตรี ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น ซาวด์เอนจิเนียร์ คนขายลูกชิ้น หรือ แท็กซี่ การจะให้เขาปรับตัวไปทำอาชีพอื่นนั้นก็เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัด คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ไม่พยายามปรับตัว เขาพยายามปรับตัวแล้ว แต่มันทำได้ยาก ภาคธุรกิจกลางคืน เป็นส่วนแรกที่ถูกปิด แล้วการเยียวยาถือว่าน้อยมาก แทบจะไม่เห็นด้วยซ้ำ ที่เห็นก็คือให้ไปลงทะเบียนประกันสังคม ม.40 ซึ่งมันแทบไม่พอ ถือว่าน้อยมากกับการเยียวยาที่ควรได้รับ
ตุล มองว่า รัฐต้องมีการวางแผน ไม่อยากให้ปิดแบบเหมารวม เพราะบางที่เขามีระบบจัดการที่ดี ในอนาคตหากเราได้รับวัคซีนที่มากพอ ควรใช้มันเป็นโอกาสเพื่อเปิดให้ประชาชนได้ทำมาหากิน คนที่ฉีดวัคซีนแล้วน่าจะสามารถเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงได้ เช่น ลงทะเบียนผ่านแอปฯ จำกัดจำนวนคน การพักชำระหนี้ มันไม่ได้ช่วยอะไร เป็นเพียงการดีเลย์เฉยๆ เพราะดอกเบี้ยมันยังเดินอยู่ มันเพียงแค่พักการส่งจ่าย เมื่อดอกเบี้ยยังเดินอยู่มันก็ทบไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสามารถช่วยพักในแง่ของดอกเบี้ยด้วย ผมว่ามันน่าจะช่วยประชาชนได้มากกว่านี้
ตอนนี้โดนกันเป็นห่วงโซ่ อุตสาหกรรมกลางคืนไม่ได้มีแต่ผับ บาร์ มันยังมีแท็กซี่ ยาม พ่อค้าแม่ขายร้านอาหารกลางคืน คนอื่นๆ ที่ทำงานตอนกลางคืนอีกด้วย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นว่ารัฐผลักการเยียวยามาให้ประกันสังคม ซึ่งเงินประกันสังคมส่วนใหญ่ก็มาจากประชาชน มันกลายเป็นว่าประชาชนเยียวยาประชาชนด้วยกันเอง ทั้งนี้ อยากจะฝากถึงรัฐบาล การเปิดสถานบริการเราสามารถจำกัดการติดเชื้อได้ และยินดีที่จะถูกปิดหากเราละเมิดกฎ โควิดคงไม่ใช่โรคระบาดครั้งสุดท้าย ในครั้งหน้ามันอาจจะเกิดขึ้นอีก รัฐบาลต้องคิดล่วงหน้าว่าหากเกิดแบบนี้ขึ้นอีก จะจำกัดความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร
นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร หรือลูกเต๋า ผู้ประกอบการสถานบันเทิง เผยว่า เคยยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยเหลือไปร่วม 10 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมกลับมา มีแต่บอกว่าจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการให้ ผมในฐานะผู้ประกอบการ โดนสั่งปิดกลุ่มแรกตั้งแต่ มีนาคม 63 จนถึงวันนี้เกือบ 300 วันแล้ว และไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย ซ้ำยังถูกภาครัฐฯ ทำให้เป็นจำเลยของสังคม กล่าวหาเป็นตัวการของเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว พาหะนำเชื้อโควิด-19 คือมนุษย์ ที่ที่มีมนุษย์มันก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ที่ไหนที่มีมนุษย์มันก็ติดได้หมด ตั้งแต่วันแรกที่เราปิดมาจนถึงวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อก็ไม่เคยลดลง คำถามผมก็คือ เรายังเป็นตัวการอยู่ไหม เราถูกสั่งปิดไปแล้ว ไม่ได้ทำอาชีพแล้ว ยอดคนติดเชื้อก็ยังไม่ตกอยู่ดี เราไม่ได้บอกว่าสถานที่ของเรามันไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ แต่คำถามก็คือทำไมต้องชี้นิ้วมาให้พวกเราเป็นต้นเหตุ อยากขอความเป็นธรรมจากสังคมด้วย
ตอนนี้ก็พยายามปรับตัวมาเป็นการไลฟ์วงดนตรี ขอรับเงินบริจาค, เปลี่ยนมาขายย่าม ขายอาหาร เราปรับตัวทุกอย่างแล้ว ก็มาโดนปิดรอบนี้อีก จนตอนนี้ไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว ทุกวันนี้เหลือลูกน้องแค่ 3 คน ที่ยังอยู่ไม่ไปไหน ผมให้เขาอยู่บ้านแล้วผมจะจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยเขา เขาจะได้ใช้ชีวิตต่อไปได้ เพื่อรอวันที่จะได้กลับมาทำงานกันอีกครั้ง ในส่วนของเจ้าของกิจการไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย กระทรวงแรงงานเขาพูดว่า นโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เยียวยาเฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่มีการเยียวยาผู้ประกอบการใด ๆ ทั้งสิ้น ตอนที่ได้ยินผมก็อึ้งไปเหมือนกัน
คุณลูกเต๋า เผยอีกว่า เราแทบไม่เคยได้รับการดูแล มีแต่เพียงคำพูดว่าเข้าใจ และพร้อมจะดูแล แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ผมอยากบอกว่าผมไม่อยากได้คำพูดครับ ผมอยากเห็นการกระทำมากกว่า ถ้าคุณเล็งเห็นว่าทุกอาชีพสำคัญจริงๆ เราคงไม่ต้องมานั่งคุยกันวันนี้ ว่าทำไมที่ผ่านมาการเยียวยามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เราเข้าใจบริบทสังคมดี ไม่ใช่ว่าจะขอเปิดวันพรุ่งนี้ เราสงสัยว่าควรจะมีการพูดคุยกันได้หรือยังว่า วันไหนที่มันจะสามารถกลับมาเปิดได้สักที ทำไมเราวางแผนเตรียมพร้อมกันไม่ได้ ต้องรอให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เหรอ กฎเกณฑ์ที่ออกมา ร้านส่วนใหญ่ก็ทำตาม สองระลอกแรกที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากร้านอาหาร หรือร้านกลางคืน แต่ปัญหาที่แท้จริงคือมันอยู่ที่การบังคับใช้กฎ ร้านไหนที่ทำผิดก็ควรจะลงโทษไป โดยที่ไม่ใช่หว่านแหไปทั้งหมดแบบนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 (ศบศ.) เผยถึงมาตรการเยียวยาว่า ผมได้ดำเนินการทุกอย่าง ยื่นผ่านกระบวนการไปศบค. ถึงนายกฯ มีการสั่งการให้ผู้ประกอบการกลางคืนสามารถไปยื่น ม.40 จะได้รับเยียวยา 5,000 บาท ในส่วนของสถานประกอบการที่เข้าร่วม ม.33 ก็จะได้รับการชดเชยทั้งเจ้าของกิจการ และลูกจ้าง วันนี้เราไม่ได้มองแค่สถานประกอบการ พี่น้องประชาชนทุกคนเดือดร้อนหมด รัฐบาลจึงต้องดูแลทุกคน ดังนั้นหากอีก 2 - 3 เดือนยังไม่ดีขึ้นก็จะต้องเยียวยาอยู่แล้ว แต่จะต้องพิจารณาเฉพาะกลุ่ม ตอนนี้รัฐบาลเร่งทำงานอยู่ ในอนาคตอาจจะมีมาตรการเยียวยาออกมาอีก อาทิ สินเชื่อ พักหนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม
สำหรับเรื่องสินเชื่อ ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักดนตรี สามารถไปกู้ได้ที่ธนาคารออมสินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ปลอดการชำระเงินต้น 6 เดือน
นายธนกร ย้ำว่า วันนี้ท่านนายกฯรับฟังทุกฝ่าย ผมเข้าใจว่ากลุ่มกลางคืนเดือดร้อนจริงๆ รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ฉะนั้นอย่าไปโทษใครเลย วันนี้เราต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาในอดีตสถานประกอบการกลางคืนก็เคยช่วยเหลือสังคมมากมาย ดังนั้นอย่าไปโทษใคร
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com